บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

French Tech Talk x InsurTech: เทคโนโลยีด้านประกันภัย

Four panelists in a presentation are engaged in a discussion about technology

เราได้สรุปงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดย La French Tech Bangkok และ Seven Peaks Speaks โดยมีผู้ก่อตั้งบริษัท InsurTech ชั้นนำมาร่วมแชร์มุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับประกันภัย, เทรนด์ล่าสุดในด้าน InsurTech, และพวกเขาคิดว่าเทคโนโลยีด้านประกันภัยจะมา disrupt วิธีการทำงานแบบเดิมๆ ของบริษัทประกันภัยหรือไม่

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านประกันภัย

– โดย Damien Kerneis

“ก่อนอื่น ผมอยากให้ผู้ชมได้ทราบข้อมูลตัวเลขบางอย่าง โดยปัจจุบันตลาดประกันภัยทั่วโลกนั้นมีมูลค่า 5.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าที่ดี และตัวเลขการลงทุนด้าน InsurTech ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงมีเงินจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจนี้ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นและสร้างโซลูชันใหม่ๆ ขึ้นมานำเสนอสู่ตลาดประกันภัย

ตลาดประกันภัยในประเทศไทยนั้นมีมูลค่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ แต่ก็ยังถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับบางประเทศในตลาดโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในไทยจะเป็นประกันภัยรถยนต์และประกันวินาศภัย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นี่คือตัวเลขบางส่วนที่อยากให้คุณได้รู้พอเป็นไอเดียคร่าวๆ”

10001-1

คำถามแรก พวกคุณมองว่าตลาดเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อสังเกตถึงลูกค้า, penetration rate, และความพร้อมของลูกค้าในการซื้อประกันภัย คุณคิดว่ามันดูมีโอกาสเติบโตมากแค่ไหน?

Nicholas Faquet:

การเจาะตลาดประเทศไทยของธุรกิจประกันภัยนั้นมีค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านประกันภัยรถยนต์ โดย 60% ของรถยนต์ในไทยนั้นได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสมด้วยกรมธรรม์ที่มีความครอบคลุม ซึ่งถือว่าตัวเลขค่อนข้างสูง น่าจะสูงที่สุดในภูมิภาคนี้เลยก็ว่าได้

ในด้านประกันสุขภาพ ผมคิดว่ามันเริ่มเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ตั้งแต่เกิดโควิด-19 มันก็เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะผู้คนเริ่มมองหาประกันสุขภาพให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

Cindy Kua:

สำหรับบริษัท Sunday ของเรา โปรดักต์ที่เราพยายามผลักดันมากที่สุดจากรายการโปรดักต์พื้นฐานทั้งหมดคือ ประกันสุขภาพ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, และรถยนต์

ในส่วนของประกันสุขภาพนั้นยังมีการเจาะตลาดที่ต่ำอยู่ เมื่อคุณลองมองดูให้ดีๆ จะพบว่าตลาดนี้ยังคงขับเคลื่อนด้วยการตัดสินใจทางการเงินของบริษัทต่างๆ เป็นหลัก

ดังนั้น เมื่อคุณดูรายงานประจำปีของผู้ให้บริการประกันจะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีรายได้จากบริษัทเหล่านี้ แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เราได้เห็นหลังจากที่หมดโควิดก็คือมีความตื่นตัวในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นมาก

ทีแรกคุณอาจจะขายโปรดักต์ที่มีราคาไม่สูงนักก่อน แต่หลังจากนั้นคุณจะเห็นว่าเริ่มมีคนซื้อโปรดักต์ที่ราคาสูงมากขึ้น

เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าถ้าใครสักคนต้องเข้าโรงพยาบาล คนก็จะเริ่มรู้สึกอยากซื้อประกันสุขภาพกัน แต่หลังจากเกิดโควิดคนก็มีความคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม

นี่คือหนึ่งในเรื่องใหญ่ๆ ที่เราสังเกตเห็น และดิฉันคิดว่าผลลัพธ์อีกอย่างที่เกิดขึ้นก็คือ ในช่วงที่โควิดกำลังระบาด ประกันสุขภาพคือหนึ่งในโปรดักต์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ถ้าให้ว่ากันตามข้อเท็จจริงก็คือ เราจะเห็นว่าค่าเบี้ยประกันกลับสูงขึ้นด้วยซ้ำ

สิ่งที่คุณสังเกตเห็นหลังจากหมดโควิดคืออะไร เมื่อมองไปที่วิธีการซื้อขายประกันภัยของลูกค้า อะไรคือ pain point หลักๆ ของพวกเขาในตอนนี้และธุรกิจของคุณช่วยแก้ pain point อย่างไร?

ในมุมของลูกค้า คุณช่วยให้พวกเขาซื้อประกันได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างไรบ้าง?

Nicholas Faquet:

pain point แรกก็คือ ราคา ประกันภัยในประเทศไทยราคาแพงมากด้วยหลายๆ เหตุผล ซึ่งเหตุผลหนึ่งก็คือมันถูกบริหารจัดการโดยตัวแทนและโบรกเกอร์ที่ได้รับค่าคอมมิชชันสูง

อย่างที่สองก็คือ อุตสาหกรรมนี้ยังล้าสมัยอยู่ในแง่ของกระบวนการทำงานและประสิทธิภาพ ดังนั้นบริษัทประกันจึงต้องแบกรับต้นทุนอยู่ประมาณ 20% ของเบี้ยประกัน ซึ่งทำให้รวมทั้งสองอย่างแล้วคุณอาจต้องจ่ายเบี้ยประกันประมาณ 3 พันกว่าบาท ซึ่งในจำนวนนี้เงินประมาณพันกว่าบาทคือค่าใช้จ่ายและค่าคอมมิชชัน บริการที่คุณเคลมได้จริงคือส่วนที่เหลืออีกประมาณสองพันบาทเท่านั้น

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่แพงมากไม่ว่าจะเทียบกับที่ไหนในโลก ประเทศที่คิดดอกเบี้ยสูงจะมีต้นทุนแค่ 15% ดังนั้นผมจึงคิดว่าราคาคือปัญหาใหญ่

สิ่งที่เราพยายามแก้ไขปัญหานี้ก็คือการตั้งราคาโปรดักต์ ซึ่งพอการทำงานเป็นดิจิทัลแล้วก็ช่วยลดค่าดำเนินการบางอย่างได้ ระบบอัตโนมัติช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ AI ก็ช่วยในการจัดการเอกสารได้ดี ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานด้วย

Harprem Doowa:

ใช่ ราคาคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ผมคิดว่ายังมีเรื่องอื่นๆ ที่แก้ไขได้ยากอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการขายประกัน

อาจจะเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขายประกัน, กระบวนการทำงาน, การเคลม, และแง่มุมอื่นๆ ที่สามารถทำได้

ถ้าคุณมองมันในภาพรวม ปัญหาของอุตสาหกรรมประกันภัยที่คุณสามารถจัดการได้ง่ายที่สุดก็คือการขายประกัน ส่วนที่สองคือการเคลมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ส่วนที่สามคือการดำเนินงานและระบบหลังบ้าน ซึ่งผมคิดว่าคุณ Nicholas นั้นกล้าพอที่จะแก้ไขปัญหาทั้งสามนี้ได้พร้อมๆ กัน

สำหรับผมแล้ว ผมจะเน้นที่เรื่องของ frontend เป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องของการขายประกันเพราะผมคิดว่ามันควรจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ในการทำให้โปรดักต์เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เพื่อให้พวกเขามองเห็นมัน, เปรียบเทียบ, คลิก, ซื้อ, และเข้าใจทุกอย่างที่พวกเขาทำไป

ซึ่งหลายอย่างก็เกิดขึ้นจากการทำให้โปรดักต์มีความเรียบง่ายก่อน ดังนั้นสำหรับผมแล้ว การขายประกันคือสิ่งที่สำคัญมาก ราคาก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่สำหรับผมแล้ว ผมพยายามทำให้กระบวนการขายประกันทั้งหมดมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้นเป็นหลัก

Cindy Kua:

ที่ Sunday เราทำทุกอย่างแบบ full-stack หมายถึงเรามีผลิตภัณฑ์ประกันอยู่ และเราก็ดำเนินงานในฐานะของบริษัทประกันด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดการและการคาดการณ์เกี่ยวกับความเสี่ยงมากๆ ดิฉันคิดว่าลูกค้ามี pain point ใหญ่ที่สุดอยู่สองอย่าง

แน่นอนว่าราคาคือปัญหาหนึ่ง มีสงครามราคาเกิดขึ้นในตลาดประกันภัยไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ระดับไหนก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคุณดูเทรนด์การซื้อโปรดักต์ของผู้บริโภคทั่วโลกจะเห็นว่า ไม่ใช่แค่ประกันภัย แต่ลูกค้าอีคอมเมิร์ซก็คาดหวังว่าราคาของทุกอย่างควรจะถูกกว่านี้ ซึ่งประกันภัยก็ควรจะมีราคาที่จับต้องได้มากขึ้น

ถ้าอย่างนั้น แล้วคุณจะรักษากำไรเอาไว้ได้อย่างไร?

ดิฉันจึงคิดว่าบริษัทประกันจำเป็นต้องนำ data science มาใช้เยอะๆ เพื่อหาว่าค่าเบี้ยประกันจะถูกลงได้อย่างไรโดยที่ยังคงรักษาอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนเอาไว้ที่ 75% ได้

ที่ว่ามานั่นคือปัญหาหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งคือลูกค้ารู้สึกว่าไม่ค่อยอยากจ่ายเบี้ยประกันประเภทนี้เพราะสงสัยว่าบริการของคุณมีอะไรน่าดึงดูดใจบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นกำแพงราคาขึ้นมา

ยกตัวอย่างที่ Sunday เราเน้นที่ประกันสุขภาพ ซึ่งในตลาดประกันสุขภาพทั่วโลกนั้นมีแรงกดดันด้านราคาสูง ดังนั้น เราจึงพยายามใช้โมเดลคาดการณ์ความเสี่ยงจำนวนมากมาช่วยและใช้ระบบอัตโนมัติในการดำเนินงานภายในด้วย

ดังนั้น เราจึงสามารถคืนกำไรให้กับลูกค้าได้ รวมทั้งในฝั่งของบริการเราพยายามนำบริการดิจิทัลด้านการดูแลสุขภาพไปฝังไว้ในกระบวนการเคลมประกันภัยของเราด้วยเพราะมันเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดิฉันคิดว่าโมเดลธุรกิจของบริษัทประกันภัย โดยเฉพาะบริษัทที่ทำเกี่ยวกับประกันสุขภาพ จะเริ่มก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการมากขึ้น เพื่อให้คุณสามารถควบคุมการทำงานได้มากขึ้น, สนับสนุนการพึ่งพาตัวเองของผู้ป่วย, รวมถึงพยายามลดความถี่และความรุนแรงของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับคุณลง

ด้วยวิธีนี้ หวังว่าจะช่วยลดต้นทุนได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างต้นทุนของค่าเบี้ยประกันภัย ดังนั้น ดิฉันคิดว่าบริการที่แตกต่างเป็นสิ่งสำคัญมาก

มาพูดถึงเรื่องการสร้างโปรดักต์ใหม่ที่คุณออกแบบตามความต้องการของลูกค้ากันบ้าง อยากทราบว่าการสร้างโปรดักต์ใหม่ขึ้นมา รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้นั้น ในแง่ของกฎหมายแล้ว รัฐบาลมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจของคุณและการออกโปรดักต์ใหม่อย่างไร

Nicholas Faquet:

ผมคิดว่ามันควรจะง่ายกว่านี้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ว่ากันตามตรง ผมคิดว่าหน่วยงานที่มีอำนาจของไทยนั้นมองการณ์ไกลมาก และค่อนข้างมองโลกในแง่บวกเกี่ยวกับการยอมรับนวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมนี้

แต่กฎมันก็ยังเป็นกฎอยู่ดี เราจำเป็นต้องส่งรายละเอียดของโปรดักต์ไปให้ตรวจก่อนที่จะขายได้ ซึ่งมันดูไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไร แต่ในอเมริกาเขาก็ทำกันแบบนี้ ดังนั้นมันจึงไม่ค่อยเกี่ยวกับการพัฒนาโปรดักต์ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม โลกนี้ยังมีอำนาจการควบคุมแบบอื่นอีก ซึ่งเป็นแบบก้าวหน้ากว่านี้ โดยพวกเขาจะอนุญาตให้บริษัทประกันภัยออกโปรดักต์ใหม่ได้ แต่เป็นการให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบในการรับประกันคุณภาพว่าโปรดักต์นั้นจะให้บริการที่ดีได้จริง

ดังนั้น ถ้าผู้บริโภคบ่น บริษัทประกันก็ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผมคิดว่าการมีกฎระเบียบคงจะดีกว่า ซึ่งก็ยังเป็นไปได้อยู่ที่เราจะสร้างโปรดักต์ใหม่ๆ ออกมาในประเทศไทย

Cindy Kua:

ใช่แล้ว การอนุมัติโปรดักต์คือหนึ่งใน pain point ที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมประกันภัย

แต่ดิฉันก็รู้สึกโชคดีที่ที่นี่ไม่ใช่อเมริกา เพราะที่นั่นคุณจะต้องส่งรายละเอียดโปรดักต์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ

แต่ว่าบางครั้งก็ต้องใช้เวลาสองถึงหกปีในการได้รับอนุมัติ แล้วพอถึงเวลา สถานการณ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ง นี่เป็นเรื่องที่เราเคยพบเจอมาในอดีต

แม้ว่าจะมีช่องทางเร่งด่วนอยู่ แต่ก็ไม่ได้ด่วนมากนัก เพราะว่าผู้มีอำนาจมักจะมีคำถามมากมายมาถามเรา

ดังนั้น มันจึงเป็น pain point ที่ใหญ่ที่สุดของเราในการบริหารจัดการ แต่เราก็เข้าใจดีว่าพวกเขากังวล อีกเรื่องหนึ่งก็คือใบอนุญาตประกันภัยดิจิทัล

หลังจากที่มีใบอนุญาตเรื่องดิจิทัลแบงกิ้งแล้ว ประกันภัยแบบดิจิทัลก็ยังมีเรื่องต้องพัฒนาอีกมาก

อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าเมื่อคุณมีใบอนุญาตแล้ว คุณก็ต้องคิดถึงเรื่องของอัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระคืนหนี้ทั้งหมด และ การดํารงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง

นอกจากนั้น เมื่อคุณเป็นบริษัทสตาร์ตอัป ปกติแล้วผู้มีอำนาจตรวจสอบจะไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการเงินของบริษัทประเภทนี้ ดังนั้น คุณจึงต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา ซึ่งในมุมมองของดิฉัน คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอธิบายพวกเขาว่ากลยุทธ์ของพวกคุณในการขยายกิจการให้เติบโตคืออะไร รวมถึงแนวทางการสร้างผลกำไรในระยะยาวด้วย

ดังนั้น แม้ว่าเราจะมีใบอนุญาตประกันภัยแบบดิจิทัลแล้ว แต่คุณจะทำให้มันสอดคล้องกับธุรกิจและลูกค้าอย่างไรล่ะ?

ยกตัวอย่างเช่น พวกเราบางคนมีใบอนุญาตแบบมาตรฐานในการขายประกันภัยแบบดิจิทัลอยู่แล้ว แต่คุณคิดว่าจะอยากได้ใบอนุญาตขายประกันภัยแบบทั่วไปไหมถ้าผู้มีอำนาจมาบอกให้คุณเปลี่ยน?

ดังนั้น มันจะตอบโจทย์และส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจของคุณอย่างไร? ดิฉันจึงคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่บริษัทประกันภัยต้องคำนึงถึงเมื่อคิดจะวางกลยุทธ์ด้านดิจิทัล

ทั้งนี้ เราก็จะมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาด้วย เพราะดิฉันคิดว่ามีบริษัทมากมายที่ไม่ใช่บริษัทประกันภัยอยากได้ใบอนุญาตเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ดิฉันคิดว่าจากที่สังเกตมา ในมุมมองของผู้มีอำนาจ พวกเขาพยายามผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมขึ้นมา

David Henderson:

ผมขอยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณสร้างโซลูชันที่ออกแบบจากการใช้อุปกรณ์ขึ้นมา คุณก็สามารถใส่อุปกรณ์นี้เข้าไปในรถยนต์ของคุณเพื่อติดตามข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของคุณได้ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นอาจจมีซิมการ์ดหรือบลูทูธอยู่ข้างใน

ซึ่งมันมีกระบวนการในการลงทะเบียนกับ กสทช. อยู่ เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการให้ผู้คนนำอุปกรณ์อะไรก็ไม่รู้ไปใช้รบกวนสัญญาณโทรคมนาคมอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า BTS หรือกองทัพ เป็นต้น

ดังนั้น ผมจึงเข้าใจว่าทำไมถึงมีกฎระเบียบอยู่ แต่เราควรจะปรับปรุงกระบวนการเหล่านี้ให้ดีกว่านี้อีกเยอะเลย

เนื่องจากเรามีเอกสารหลายร้อยหน้าที่ต้องส่งไปให้ตรวจ แต่ในแง่ของกฎหมายโดยรวมๆ แล้ว ผมคิดว่าผู้มีอำนาจคือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์นในธุรกิจธนาคารและประกันภัย และผมคิดว่าพวกเขาน่าจะเป็นสาเหตุเดียวเลยด้วยซ้ำ

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเวียดนาม, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, คุณจะเห็นว่ามียูนิคอร์นสาย FinTech เกิดขึ้นมามากมาย

แล้วมันก็ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะว่ามีปัญหาเรื่องของใบอนุญาตขายประกันภัย, ใบอนุญาตธนาคาร, การออกโปรดักต์ใหม่มีความล่าช้า ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้มียูนิคอร์น

ที่เวียดนาม รวมถึงประเทศอื่นๆ มีการเปิดเสรีมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้เลย แน่นอนว่าผู้ร่วมเสวนาในงานนี้เคยเปิดตัวโปรดักต์ประกันภัยกันมาบ้างแล้ว แต่มันก็ควรจะง่ายกว่าที่เป็นอยู่นี้มากๆ

คุณบอกว่าระบบในประเทศอื่นๆ เป็นมิตรกว่านี้หรือสะดวกรวดเร็วกว่านี้ คุณคิดว่าเทคโนโลยีด้านธุรกิจประกันภัยของคุณเน้นที่ตลาดประเทศไทยไหม หรือคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทำอะไรแตกต่างออกมาในอุตสาหกรรมนี้?

Cindy Kua:

แน่นอนว่าเราต้องการเจาะตลาดทั้งภูมิภาคนี้ เราไม่ได้เริ่มก่อตั้ง Sunday ขึ้นมาเพื่อตีตลาดในประเทศไทยอย่างเดียว แต่เราต้องการทั้งตลาดอาเซียน ที่เราเริ่มในไทยเพราะว่ามีคนเก่งๆ อยู่ที่นี่มากมาย

เรามีใบอนุญาตมาตั้งแต่แรก และคิดว่าประเทศไทยคือหนึ่งในแหล่งเศรษฐกิจชั้นนำเมื่อมองที่อัตราการเติบโตและขนาดของอุตสาหกรรม

เราเพิ่งเปิดออฟฟิศที่จาการ์ตา ซึ่งเป็นแผนกการตลาดแผนกที่สองของเราเมื่อไตรมาสที่สี่ที่ผ่านมา

ที่จริงแล้ว เราควรจะทำมันไปตั้งแต่ไตรมาสที่สอง แต่เพราะมีโควิดเกิดขึ้น เราก็เลยตัดสินใจเปิดทำการแบบออนไลน์ไปก่อน และเปิดทำการจริงๆ ในไตรมาสที่สี่ ดังนั้นอาเซียนจึงเป็นเป้าหมายของเราอย่างแน่นอน

Harprem Doowa:

เรากำลังพยายามเติบโตในอาเซียน แต่ข้อดีของการอยู่ในกลุ่มบริษัท bolttech ก็คือสามารถเปิดตัวใน 8 ประเทศได้พร้อมกันทันทีที่ต้องการเลย

ที่สำคัญคือ หลังจากที่ bolttech ซื้อกิจการของเราไป พวกเขาก็นำแพลตฟอร์มของเราไปใช้และเปิดตัวในอินโดนีเซีย, เวียดนาม, ฮ่องกง, และสิงคโปร์ รวมถึงเกาหลีใต้และมาเลเซียที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ด้วย

ดังนั้น เราจึงสามารถขยายกิจการสามารถทำได้ทันทีเพราะว่ามีทรัพยากรพร้อม เหตุผลที่เราเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเพราะเราไม่ได้โฟกัสแค่ประเทศไทย

สิ่งที่ผมอยากจะบอกให้เข้าใจชัดเจนก็คือ แม้ว่าเราจะเป็นโบรกเกอร์ขายประกันภัยในประเทศไทย แต่โปรดักต์จริงๆ ที่เราสร้างขึ้นในระบบหลังบ้านไม่ใช่ความคุ้มครองของประกันภัย แต่เป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการขายประกันภัย

ตัวแพลตฟอร์มนี้คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นและต้องการขยายมันไปในภูมิภาคนี้เพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถปรับขนาดได้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์, UX/UI, engine ที่เราใช้แนะนำโปรดักต์, ระบบ CRM, วิธีที่ลูกค้าสามารถเลือกโปรดักต์ที่แตกต่างกันแล้วเปรียบเทียบได้โดยใช้ API ของแพลตฟอร์ม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สามารถปรับขนาดได้ทั้งนั้น

มันคือสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับบริษัทอย่างเราหรือทำให้เราน่าดึงดูดใจในสายตาของนักลงทุน ไม่อย่างนั้น ถ้าเราเป็นแค่โบรกเกอร์แบบเทเลเซลส์ เราก็คงไม่กลายมาเป็นบริษัท InsurTech แต่เป็นแค่บริษัทประกันทั่วไป

ซึ่งจริงๆ เป็นแบบนั้นก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะมีคนมากมายที่ทำเงินได้เยอะแยะกับธุรกิจแบบนั้น บางคนสามารถระดมทุนด้วยวิธีนี้ได้ด้วยซ้ำ แต่มันไม่ใช่ธุรกิจที่พร้อมสำหรับการเติบโตได้ดีนัก เพราะว่าคุณจะต้องผูกติดกับต้นทุนมนุษย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่แพลตฟอร์มของเราพยายามจะทำ

อยากให้สรุปสั้นๆ สักประโยคหนึ่งเกี่ยวกับการคาดการณ์ของคุณว่าอะไรคือกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จของเทคโนโลยีด้านธุรกิจประกันภัย

Nicholas Faquet:

ข้อดีของเทคโนโลยีด้านประกันภัยนอกจากการขายโปรดักต์ก็คือการช่วยให้เราสามารถประเมินและจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้ลูกค้าสามารถแจ้งเคลมได้สะดวกขึ้นด้วย

Cindy Kua:

การใช้ข้อมูลจาก data science คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้บริษัทสามารถทำ predictive risk modeling ในการเสนอขายโปรดักต์ประกันภัยได้ทุกรูปแบบโดยที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

Harprem Doowa:

อุตสาหกรรมประกันภัยควรมีการแข่งขันสูงกว่านี้ เพื่อให้ลูกค้าตระหนักว่ายุคนี้พวกเขาสามารถซื้อประกันภัยออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยตนเอง แทนที่จะต้องซื้อกับตัวแทนหรือโบรกเกอร์ในแบบดั้งเดิม

David Henderson:

ธุรกิจประกันภัยคือธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพราะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมของผู้คน ธุรกิจนี้มีศักยภาพสูงมาก หากเรารู้จักใช้ข้อมูลรวมถึงเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในธุรกิจนี้

ต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์และนักออกแบบเพื่อสร้างโปรดักต์ใหม่ของคุณไหม?
คุยกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญของเราเพื่อดูว่าเราสามารถช่วยอะไรคุณได้บ้าง
ปรึกษาเรา