บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

เส้นทางสู่การเป็น senior UX/UI designer ที่เชี่ยวชาญเรื่อง design system

SL_Sr UX UI_Kaew_01-hero banner-min

การออกแบบคือความสุขของแก้ว

แก้วจบสาขา industrial design จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ซึ่งนอกจากการเรียนแล้วแก้วก็จะเป็นคนที่ทำกิจกรรมเยอะ เคยทำสตาร์ตอัปกับเพื่อนๆ ต่างคณะ ทำ TEDx และก่อนหน้านี้เคยไปทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์และ graphic design บ้าง แต่สุดท้าย ด้วยความชอบในเรื่องการออกแบบ UX/UI ที่สุด ก็เลยมาทำงานเป็น UX/UI designer ที่ Morphosis ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Seven Peaks จนถึงปัจจุบันค่ะ

 

จุดเริ่มต้นของความชอบในเรื่อง UX/UI

ที่แก้วเริ่มสนใจ UX/UI ก็มาจากตอนเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นี่แหละค่ะ ตอนนั้นอาจารย์เขาสอนวิชา design thinking ซึ่งแก้วชอบมาก เพราะแก้วชอบการทำงานที่มีกระบวนการชัดเจนเป็นขั้นตอน เริ่มจากปัญหา มีการอ้างอิงจากผู้ใช้ มีขั้นตอน ideation เลยเป็นจุดที่ทำให้แก้วสนใจและอยากรู้ว่าในอนาคตจะมีอาชีพอะไรที่ทำให้เราสามารถนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดได้

พอช่วงปีสามก็มีโอกาสได้ไปฝึกงานออกแบบ UX/UI ที่ Wongnai แล้วก็รู้สึกชอบงานลักษณะนี้ อยากทำงานด้านนี้ต่อหลังเรียนจบ

 

การมาเริ่มทำงานที่ Morphosis

ตอนที่สมัครงานก็อยากทำงานในบริษัทที่มีชาวต่างชาติด้วย เพราะอยากใช้ภาษาอังกฤษ และจะได้มีมุมมองในการทำงานที่กว้างขึ้น เพราะเพื่อนร่วมงานแต่ละคนมีพื้นเพที่แตกต่างกัน มาจากกว่า 25 ประเทศทั่วโลก อีกอย่างคือแก้วก็อยากทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้วย อยากเปิดประสบการณ์ตัวเองให้กว้างที่สุด เลยคิดว่าการอยู่ในบริษัทที่ปรึกษาน่าจะมีโอกาสได้ไปทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลายๆ แบบ นอกจากนี้ออฟฟิศก็อยู่ใกล้บ้านด้วย เดินทางสะดวกค่ะ

ตอนแรกที่เข้ามาก็ตกใจนิดหน่อย ด้วยความที่เข้ามายังเป็น junior UX/UI designer อยู่ ก็หวังว่าจะได้ทำงานประกบกับ senior แต่ตอนที่เข้ามาก็เริ่มทำโปรเจกต์กับลูกค้าใหญ่อย่าง ttb ด้วยตัวเองเลย ซึ่งนอกจากต้องเรียนรู้เรื่องของธุรกิจธนาคารแล้ว ก็ยังมีทั้ง hard และ soft skill ที่ต้องฝึกด้วย ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กันโดยไม่คาดคิด

 

การรับมือกับลูกค้าโปรเจกต์แรก

ช่วงที่ต้องทำงานกับ ttb ก็ใช้เวลาอยู่ 1 ปี ซึ่งโชคดีที่มี designer คนอื่นๆ ด้วย ก็เลยรู้สึกว่าพวกเขาช่วยแก้วได้เยอะมาก มีอะไรก็ปรึกษาได้ เพราะตอนแรกที่ทำอยู่คนเดียวก็ไม่รู้ว่าต้องคุยกับลูกค้าอย่างไร ต้องสื่อสารหรือบริหารจัดการงานอย่างไร พอทำไปเรื่อยๆ ก็จะพอรู้วิธีการจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น

ในด้าน UX/UI สิ่งสำคัญคือ แก้วก็ต้องรักษามาตรฐานการออกแบบไว้ให้ได้ element ที่นำมาใช้งานก็ต้องเชื่อมโยงกับ design system ที่ทำไว้ แล้วด้วยความที่ลูกค้าเป็นธนาคารก็จะมีความอ่อนไหวต่อเรื่องการเงิน แก้วก็ต้องตรวจสอบจนแน่ใจว่าทุกดีไซน์ที่ทำขึ้นมามันมีที่มาที่ไป สมเหตุสมผลมากที่สุด user flow มีความราบรื่น แก้วคิดว่าอาจจะมีรายละเอียดยิบย่อยมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น

พอจบโปรเจกต์นี้ ถ้าให้ประเมินตัวเอง แก้วก็รู้สึกว่าในส่วนของ hard skill นั้นทำได้ดีขึ้นในระดับนึง แต่สิ่งที่ดีขึ้นมากๆ คือ soft skill ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการหรือปฏิบัติงานด้านต่างๆ

 

SL_Sr UX UI_Kaew_02-min

ความสนุกในการทำงานออกแบบ UX/UI

เอาจริงๆ ความสนุกในเรื่องนี้ก็มีหลายด้านเลย ส่วนหนึ่งที่ชอบอาจจะมาจากตั้งแต่สมัยเรียน ที่งานของแก้วได้ส่งผลจริงต่อผู้คน สิ่งที่เคยทำไปไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรืองานออกแบบใดๆ ก็ตาม เมื่อสร้างผลงานอะไรออกมาแล้วมีคนนำไปใช้งานจริง มันมีผลกระทบจริงๆ มันทำให้แก้วมีความสุขในการทำงาน

อีกอย่างคือเป็นคนชอบแก้ปัญหา เวลาที่แก้วสามารถสร้างโซลูชันขึ้นมาได้ก็จะมีความสุข เช่น ตอนที่ทำโปรเจกต์ True Farm ที่ทำงานร่วมกับ UX/UI designer อีกคน โจทย์คือต้องออกแบบอินเทอร์เฟซของ automation device บนเว็บไซต์และแอปให้กับเกษตรกร แต่แก้วจะเริ่มจากเว็บไซต์ก่อน

หลักการทำงานคือ ถ้าอุณหภูมิไปถึงระดับหนึ่งต้องเปิดเครื่องนี้ ถ้าอุณหภูมิยังไม่ลดต้องเปิดอีกเครื่องหนึ่ง เปิดกี่นาที ถ้าอุณหภูมิลดแล้วต้องปิดเครื่องไหน ทั้งหมดนี้ต้องเอามาออกแบบเป็นดีไซน์ที่ง่ายต่อผู้ใช้ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีมาก

ตอนแรกก็คิดหนักว่าจะทำอย่างไร เพราะมันไม่ใช่แพลตฟอร์มทั่วไปที่จะสามารถหาตัวอย่างใกล้เคียงได้ ก็เลยเริ่มจากการนำเคสทั้งหมดออกมาดูก่อนว่ามีอะไรบ้าง คุยกับลูกค้าเพื่อขอทั้งเคสแบบธรรมดากับแบบที่ซับซ้อนที่สุด แล้วลองมา ideate กับเพื่อนร่วมทีมเพื่อดูว่ามีอินเทอร์เฟซแบบไหนบ้างที่จะตอบโจทย์เคสเหล่านี้ได้ทั้งหมด พอทำเสร็จก็นำไปทดสอบกับผู้ใช้ แล้วก็ค่อยกลับไปคุยกับลูกค้าอีกครั้ง

อีกประเด็นที่สนุกคือ ชอบการ visualize พูดง่ายๆ ก็คือ ทำอย่างไรให้โซลูชันที่แก้ปัญหาได้ดูสวยงามน่าใช้งานด้วย

นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นตอนทำ research ที่บางครั้งได้เจอ insight แปลกๆ ที่ไม่คาดคิด หรือมันจุดประกายอะไรบางอย่าง ชอบที่จะได้ validate ไอเดียกับผู้ใช้จริงๆ มีการโต้ตอบกัน ไม่ใช่แค่นั่งทำคนเดียว 

ด้วยเหตุนี้ ในมุมมองของแก้วคิดว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้งานออกแบบ UX/UI มีความแตกต่างจากการออกแบบกราฟิกทั่วไป เพราะมีเรื่องของการแก้ปัญหาเข้ามาเพิ่มเติม เพราะงาน graphic design ก็คือรับบรีฟมาแล้วก็ส่งดีไซน์กลับไป แต่ UX/UI designer ต้องคิดเรื่อง user flow และประสบการณ์ของผู้ใช้ด้วย 

อีกอย่างคือ แก้วคิดว่าเนื้องาน UX/UI มีความหลากหลายมากกว่า อย่าง graphic design อาจจะเป็นโปสเตอร์ หรือแบนเนอร์โฆษณา แต่ UX/UI มันกว้างมาก แค่ธุรกิจที่แตกต่างกันก็แทบจะมีดีไซน์ไปคนละแบบเลย

 

Design System และ UX Design สำคัญมากสำหรับ digital product

ทุกโปรเจกต์การพัฒนา digital product ที่แก้วเคยทำมาทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายสำคัญเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น เช่น ทำอย่างไรให้แอปพลิเคชัน หรือโปรดักต์นั้นๆ ตอบโจทย์ผู้ใช้เป้าหมายที่ลูกค้าต้องการเจาะตลาดมากที่สุด กับการทำอย่างไรเพื่อมอบประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้เหล่านั้น สองสิ่งนี้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ มีดิจิทัลโปรดักต์หลายตัวที่ไม่สามารถมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับผู้ใช้ได้ดีเท่าที่ควร

ในประเด็นของ UX design นั้น แก้วมองว่าสิ่งนี้ควรทำตั้งแต่แรกก่อนที่จะเริ่มต้นทำ digital product ใดๆ ก็ตาม มีหลายครั้งที่แก้วเห็นว่ามีบางแอปพลิเคชันข้ามขั้นตอนการทำ UX research เนื่องจากมีงบการพัฒนาค่อนข้างจำกัด ผลที่ตามมาก็คือ digital product ที่นำออกสู่ตลาดไปนั้น ไม่ได้มาพร้อมฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ ท้ายที่สุดก็ต้องย้อนกลับมาทำ research ใหม่เพื่อค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าอยากใช้เพื่อช่วยให้ชีวิตพวกเขาง่ายขึ้น และนั่นคือการเพิ่มต้นทุนในการพัฒนาไปโดยปริยาย

สำหรับข้อดีของการทำ UX design ตั้งแต่ก่อนลงมือพัฒนา digital product จะทำให้เรารู้ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เจ้าของโปรเจกต์ ผู้ใช้เป้าหมาย และโอกาสที่มีอยู่ในตลาด ทั้งหมดมีความต้องการ ช่องว่าง หรือปัญหาใดที่เกิดขึ้นบ้าง เมื่อรู้ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดแล้ว เราก็จะออกแบบ user flow ของแอปฯ ได้อย่างครอบคลุมทุกเรื่อง นี่ยังไม่รวมถึง UI สามารถออกแบบได้ง่ายแบบที่เข้าใจว่าลักษณะของโทนสี ฟอนต์ หรือรูปแบบคำต่างๆ จะเหมาะกับผู้ใช้กลุ่มเป้าหมายมากที่สุดอีกด้วย

ยิ่งไปกว่า การออกแบบ design system ที่เหมาะสมกับ digital product ตั้งแต่แรก ก็เหมือนกับการเตรียมรากฐานของอาคารที่มั่นคง และพร้อมสำหรับการพัฒนาต่อยอดในอนาคต โดยตอนที่สร้าง design system ขึ้นมา Figma ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ชีวิตของแก้วง่ายขึ้นเยอะ เพราะมีฟีเจอร์พร้อมด้วยเครื่องมือภายในที่จัดเตรียมไว้สำหรับการสร้างส่วนย่อยที่เล็กที่สุดใน design system อย่าง atom ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง ฟอนต์, สี, ระยะ, และอื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับงานออกแบบในส่วนต่างๆ ภายใน
โปรดักต์นั้น

โดยแก้วจะกำหนด atom เป็นสไตล์ไว้ หากอยากใช้แบบไหนก็เรียกมาใช้ได้ทันที ไม่ต้องไปนั่งปรับหรือสร้างขึ้นมาใหม่ให้เสียเวลา เรียกว่าเป็นการตั้งค่า preset ไว้ก่อนเลย เช่น กำหนดลักษณะของ header ไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าจะใช้ฟอนต์อะไรกับขนาดเท่าไร ทำให้ designer คนอื่นที่ทำงานในโปรเจกต์เดียวกันก็ไม่ต้องเสียเวลามาคอยถามว่า ใช้ฟอนต์อะไร หรือใช้ไหนกับส่วนนั้นส่วนนี้อีกต่อไป นอกจากนี้ ยังสามารถนำเทมเพลตจากที่อื่นมาปรับใช้ หรือจะทำขึ้นมาเองใหม่เลยจาก CI เดิมที่มีอยู่ก็ได้

นอกจากนี้ เวลาที่แก้วปรับแก้ style guide หรือ variant สำหรับปุ่ม header หรือการใช้สีต่างๆ ก็ปรับแค่ครั้งเดียวแล้วเลือกได้ว่าจะให้ปรับใช้กับทั้งโปรดักต์เลยหรือไม่ เหมาะมากๆ กับโปรเจกต์ที่มี screen จำนวนหลายร้อยหรือหลักพันหน้า เพราะไม่ต้องเสียเวลาแก้ทีละหน้า และไม่ต้องกลัวว่าจะลืมปรับบางส่วนอีกด้วย

สิ่งที่ทำให้ Figma เป็นหนึ่งในเครื่องมือออกแบบที่ช่วยให้ designer ทำงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาจากการที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นั้นสามารถเข้ามาทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เวลาที่เราออกแบบ user flow หรือ user interface อะไร และต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น developer, ลูกค้า, หรือ UX writer เข้ามาคอมเมนต์, ทำงานในส่วนนั้น, และส่งต่อไปยังทีมนักพัฒนา ก็ทำได้แบบเต็มที่โดยไม่ต้องเสียเวลา export หรือส่งไฟล์งานผ่านอีเมลให้ยุ่งยาก ส่งผลให้สามารถปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ และพัฒนาโปรดักต์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด

Join us for the premier Figma event in Thailand

Learn more about how Figma and Seven Peaks can help your organization get your digital products to market faster by utilizing new project management tools and collaborative features in Figma Enterprise.

Click here to reserve your spot at this landmark event!

 

เรื่องที่ยากที่สุดในการทำงาน

สิ่งที่แก้วกังวลคือเรื่องการทำงานกับลูกค้า เพราะอย่างถ้าเป็นคนในทีมก็ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะทุกคนเข้าใจกัน แต่พอเป็นลูกค้าจะมีความคาดหวังของเขา แก้วจะไม่แน่ใจว่าแค่ไหนถึงดีพอ อย่างช่วงแรกๆ ที่เข้ามาทำโปรเจกต์ ttb แก้วก็ไม่รู้ว่าที่ทำไปมันเร็วหรือว่าช้า เยอะหรือน้อยไป ลูกค้าจะโอเคหรือยัง เรื่องพวกนี้พอทำไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เรียนรู้ ก็จะหาจังหวะที่พอดีเจอ

พอผ่านมาช่วงกลางๆ มักจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ task ที่อยู่ในมือ พอแก้วเริ่มทำได้ มีงานเยอะและหลากหลายมากขึ้น ก็ต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น ต้องฝึกฝนว่าพอมีปริมาณงานเท่านี้ ควรทำอะไรก่อนหลัง แต่ละอย่างจะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง ถ้าทำสิ่งนี้ต้องไปคุยกับใคร

สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้แก้วได้เรียนรู้มากขึ้นคือการได้ร่วมงานกับ senior หรือ lead ในทีม แก้วจะสังเกตและจดจำว่าแต่ละคนมีวิธีการบริหารหรือทำงานอย่างไร เช่น ก่อนเริ่มงานก็ควรเคลียร์ requirement กับลูกค้า ถามคำถามที่ควรจะถามให้ครบ เข้าใจความคาดหวัง รู้ไทม์ไลน์ที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งตอนแรกๆ แก้วก็ไม่รู้ว่าพอรับ requirement มาแล้วต้องทำอะไรต่อ แต่พอดูว่าพี่ๆ เขามีวิธีสื่อสารกับลูกค้าแบบไหน แก้วก็ได้เรียนรู้แล้วนำมาปรับใช้กับงานตัวเองต่อ

 

SL_Sr UX UI_Kaew_03-min

คติประจำใจในการทำงาน

แก้วเคยคุยกับพี่ manager ที่มาสัมภาษณ์แก้วตั้งแต่วันแรก คือ แก้วจะพยายามสร้างผลงานที่มีคุณภาพสูงที่สุด เต็มที่กับงานที่ทำ ไม่ชอบทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ 

อีกอย่างที่แก้วให้ความสำคัญคือเรื่อง work-life balance ซึ่งเวลาว่างแก้วจะชอบออกกำลังกาย เช่น วิ่ง หรือตีแบดมินตัน ซึ่งแก้วเองก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างกลุ่มตีแบดฯ และแก๊งวิ่งกับเพื่อนๆ ในออฟฟิศด้วย 

การมี work-life balance มันช่วยให้แก้วมีความสุขในระยะยาวมากขึ้น เพราะแก้วเต็มที่ในส่วนของงานแล้ว เราก็ควรเต็มที่ในส่วนอื่นๆ ของชีวิตนอกเหนือจากเวลางานด้วย

เวลาว่างนอกจากนั้นแก้วก็ชอบดูฟุตบอลด้วยค่ะ เป็นแฟนทีมลิเวอร์พูล วันหยุดบางครั้งก็ไปเที่ยวดูพวกนิทรรศการบ้าง เช่น พวกงาน installation art อย่างล่าสุด Awakening Bangkok 2023 ที่ถนนเจริญกรุง เป็นงานจัดแสดงไฟสวยๆ แม้ว่าจะเป็นงานอดิเรกและไม่ได้ไปตั้งใจดูพวกเรื่องที่เกี่ยวกับ UX/UI แต่บางทีการได้ไปดูอีเวนต์แนวอื่นๆ ก็ได้แรงบันดาลใจดีๆ กลับมาเหมือนกัน 

 

การให้คำแนะนำกับ junior ในทีม 

ที่ผ่านมาก็เคยให้คำแนะนำกับน้อง junior UX/UI designer บ้าง อย่างเช่น เวลามีโจทย์ให้ junior ทำ task บางอย่าง แก้วก็จะเข้าไปเป็น mentor เพื่อคอยแนะนำเขา 

ปกติแล้วเวลาแก้วทำงานก็จะได้คุยกับเพื่อนร่วมทีมระดับเดียวกันหรือคนที่โตกว่า แต่พอเป็น junior แก้วก็จะได้เรียนรู้ว่าต้องพูดอย่างไร สื่อสารอย่างไรให้เขาได้เรียนรู้งาน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ชี้นำเขามากเกินไป แรกๆ ก็ไม่ค่อยรู้ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจว่า อ๋อ ควรพูดแบบนี้

แก้วมองว่าการที่ใครคนหนึ่งจะได้เรียนรู้อะไรจริงๆ เขาต้องฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แก้วอาจจะชี้ทางให้นิดหน่อย แล้วพอเขาทำได้บ้างแล้ว ต่อไปเขาก็จะทำได้ดีขึ้น ถ้าเขาติดขัดอะไร ก็อาจจะแนะนำว่าลองไปศึกษาแพลตฟอร์มนั้นไหม หรือลองไปดูเคสอื่นๆ ไม่ได้เฉลยเขาตรงๆ แต่ชี้แนวทางที่ดีให้

แก้วสังเกตว่าเด็กรุ่นใหม่เขาจะมีไฟ มีไอเดียของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆ แต่สิ่งที่จะมาเสริมพวกเขาได้จากประสบการณ์การทำงาน คือการคิดที่เป็นระบบมากขึ้น คำนึงถึงแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เรามีไอเดียที่ดีแล้ว แต่ต้องดูด้วยว่าไอเดียเราจะไปหลอมรวมกับส่วนอื่นๆ ในภาพรวมได้อย่างไร เช่น developer จะทำงานต่อได้ไหม หรือมันจะตอบโจทย์ธุรกิจได้จริงหรือเปล่า 

เด็กที่เข้ามาใหม่อาจจะขาดประสบการณ์ เพราะไม่เคยร่วมงานกับลูกค้าโดยตรง พอได้คลุกคลีกับลูกค้า เขาก็จะได้มองเห็นสิ่งเหล่านั้น และค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้นเอง

 

ความรู้สึกที่ผ่านมากับ Morphosis และ Seven Peaks

แก้วว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นดี โดยเฉพาะตอนที่เริ่มโปรเจกต์ใหม่ อีกอย่างก็คือที่นี่ให้ความสำคัญกับ work-life balance เพราะเขาส่งเสริมให้ทุกคนมีกิจกรรมร่วมกันหลังเลิกงาน ไม่ใช่แค่มาทำงานอย่างเดียว

นอกจากนั้น ที่นี่เขาให้โอกาสพนักงานได้เรียนรู้ค่อนข้างเยอะ มีการจัดอีเวนต์จากคนภายนอก มีการจัด Design Guild เพื่อแชร์ความรู้เรื่องดีไซน์กับคนในทีม มันจึงมีโอกาสดีๆ มากมายให้เราได้พัฒนาตัวเอง

เพื่อนร่วมงานที่นี่ก็ดีมาก สภาพแวดล้อมโดยรวมก็คือ ทุกคนพยายามช่วยเหลือกัน เวลาที่แก้วติดขัดอะไรก็สามารถหาใครสักคนมาช่วยเหลือได้เสมอ อีกอย่างคือ ที่นี่มี designer ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะแต่ละคนย่อมมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ทำให้แก้วได้เรียนรู้จากแต่ละคนที่มีทักษะแตกต่างกัน

บริษัทที่มี designer เยอะขนาดนี้ในเมืองไทยจริงๆ แล้วหายากนะ เพราะส่วนใหญ่จะมีกันแค่ 2-3 คน บางที่อาจจะมีแค่คนเดียว ซึ่งแก้วว่าเวลาทำงานมันคงหนักใจเหมือนกันนะ เพราะถ้าบางทีเวลาเราติดขัด อยากได้ความช่วยเหลือ หรืออยากได้คำปรึกษา แต่ไม่มีใครเลยที่จะช่วยได้ ประเด็นนี้คิดว่าสำคัญมากสำหรับเด็กจบใหม่ เพราะถ้าไม่มีใครให้ปรึกษาจะค่อนข้างลำบาก ถ้ามีใครให้เราเรียนรู้จะช่วยให้เราเรียนรู้ได้ไวขึ้น

 

SL_Sr UX UI_Kaew_04-min

 

เรื่องที่อยากแนะนำน้องๆ ที่สนใจงาน UX/UI design

จากประสบการณ์ส่วนตัว แก้วคิดว่าการทำกิจกรรมสำคัญมาก เพราะลำพังการเรียนในห้องเรียนมันจะเจอแต่คนในคณะเดียวกัน แต่พอได้ไปทำกิจกรรมกับเด็กคณะอื่นหรือกับคนภายนอกมันจะเหมือนเป็นการจำลองการทำงานจริงในระดับหนึ่ง พอมีคนที่มีแบ็กกราวนด์ต่างกันมาทำงานร่วมกันมันจะช่วยให้แก้วมีมุมมองที่กว้างขึ้น ซึ่งประสบการณ์เหล่านั้นมีส่วนช่วยแก้วมากๆ ทำให้แก้วมองเห็นภาพรวมมากขึ้น ยิ่งพอมาทำงานในบริษัทที่ปรึกษา มีหลายทีมมาทำงานร่วมกัน 

ยิ่งถ้าไปทำกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย ยิ่งทำให้แก้วได้ทักษะอย่างอื่นนอกเหนือจากการออกแบบเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ความรู้ในการทำธุรกิจ การสื่อสาร การนำเสนองาน ซึ่งเริ่มมาจากแก้วและเพื่อนๆ ในคณะวิศวะฯ ที่ไปร่วมแข่งทำเคสธุรกิจในงานพวก startup funding ซึ่งแก้วได้ไป pitch หลายงาน 

ในตอนนั้นโปรเจกต์ที่ทำจะเกี่ยวกับการลดการใช้งาน single-use plastic โดยหลังจากนั้นก็มีการต่อยอดไปตั้งบูทจริงๆ ที่มหาวิทยาลัยด้วยการไปร่วมมือกับทางสหกรณ์ของจุฬาฯ แต่สุดท้ายก็หยุดไปหลังจากที่ทุกคนในทีมมีงานประจำต้องทำ

จริงๆ ที่แก้วไปเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ก็เพราะความอยากรู้อยากลอง อยากเข้าใจเรื่องธุรกิจมากขึ้น แล้วพอดีมีเพื่อนมาชวนด้วย พอได้ลองทำจริงก็สนุก แม้จะเหนื่อยก็ตาม แต่ก็ได้เรียนรู้ ซึ่งถ้าแค่เรียนในคณะอย่างเดียวจะไม่ได้เห็นมุมมองเหล่านี้เลย

ทักษะต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมเหล่านี้ช่วยได้มากเมื่อต้องมาทำงานจริงกับลูกค้า ช่วยให้แก้วรู้วิธีการพูดที่ดียิ่งขึ้น รู้ว่าควรสื่อสารอย่างไร คล้ายๆ กับตอน pitch งานสตาร์ตอัปที่ต้องพูดให้มีคนมาสนใจลงทุน

 

แผนในอนาคต

จริงๆ แล้วตัวแก้วเองอาจจะไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวให้ตัวเองไว้ชัดมากขนาดนั้น สิ่งที่ยังชัดเจนอยู่คือแก้วชอบในการออกแบบอยู่ แต่ก็ไม่ถึงขนาดปิดกั้นตัวเองว่าต้องทำอาชีพนี้ไปตลอด เพราะอนาคตอาจจะมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นที่ตอบโจทย์หรืออยากลองทำกว่านี้ก็ได้ เหมือนอย่างสิบปีที่แล้วที่คนแทบไม่รู้จัก UX/UI designer เลย 

เมื่อก่อนเคยอยากทำโปรดักต์ของตัวเองเหมือนกัน แต่คิดว่าถ้ายังไม่มีไอเดียที่ชัดเจนมากพอ หรือมองเห็นโอกาสที่เหมาะสมจริงๆ และมีทักษะที่พร้อมจะลงมือทำได้ ก็เป็นไปได้ที่จะลองทำอะไรของตัวเอง

มีเป้าหมายอย่างหนึ่งที่แก้วอยากทำได้คืออยากวิ่งมาราธอน ตอนแรกแก้วก็เริ่มจากวิ่งขำๆ แค่ 5 กิโลเมตรก่อน ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็ลองขยับไปเป็น 10 กิโลเมตร แต่ก็ยังไม่กล้าขยับไปเป็น half marathon คือ 21 กิโลเมตรสักที จนกระทั่งกลางปีที่ผ่านมา พี่กอล์ฟ ฝ่ายการตลาด ชวนไปวิ่ง half marathon ก็เลยต้องซ้อมเยอะขึ้น หวังว่าสักวันจะวิ่งมาราธอนได้

สิ่งที่ผลักดันให้วิ่งคงจะเรียกได้ว่า เป็นความทรมานที่มีความสุข คือตอนวิ่งมันไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น แต่พอวิ่งถึงเส้นชัยมันมีความสุขมาก เหมือนได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง แล้วเวลาวิ่งมันเหมือนเราได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดอะไรไปเรื่อยๆ บางทีเผลอๆ คิดงานออกด้วย หลายครั้งเลยที่เป็นแบบนั้น หรือถ้าวิ่งกับเพื่อนก็วิ่งไปคุยไป ก็สนุกไปอีกแบบหนึ่ง

ถ้าให้เทียบกันกับตอนทำงาน เวลาที่ทำโปรเจกต์ยากๆ สำเร็จ ก็เหมือนได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองเหมือนกัน ตอนเริ่มโปรเจกต์อาจจะไม่คิดว่าจะทำสิ่งนั้นได้ แต่พอทำได้แล้วมองย้อนกลับไปมันก็มีความภูมิใจ

ทักษะที่อยากพัฒนาต่อจากนี้คือการมองให้เห็นภาพรวมมากขึ้น เข้าใจแต่ละฝ่ายได้ดีขึ้น เพราะถ้าอยากทำงานในระดับที่สูงขึ้นในอนาคตก็ต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้ได้ อีกเรื่องคือการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายให้ดีขึ้น เมื่อได้ทำงานในโปรเจกต์ใหม่ ได้เจอลูกค้ารายใหม่ ก็อาจจะเจอความท้าทายใหม่ๆ ถึงตอนนั้นก็คงได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น คิดว่าถ้าได้เจอลูกค้าหลากหลายขึ้น ก็คงจะบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

SL_Sr UX UI_Kaew_profile-min

สิรินดา ลิมทรง (แก้ว) Senior UX/UI Designer ที่ Seven Peaks

คุณสิรินดามีประสบการณ์การทำงานในสาย UX/UI มามากกว่า 3 ปีทั้งในบริษัท agency และ in-house ให้กับหลายกลุ่มธุรกิจ รวมทั้งมีประสบการณ์การทำงานออกแบบด้านอื่นๆ ที่หลากหลายตั้งแต่ กราฟิกดีไซน์ แพ็กเกจจิ้ง ออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการทำสตาร์ตอัปของตัวเอง