บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

การเติบโตของ frontend developer คนหนึ่งที่รักการเรียนรู้

SPS- What is InsurTech_01 Herobanner (49)-1

นี่ก็ผ่านมา 3 ปีแล้วที่หม่อนได้ทำงานเป็น frontend developer แม้จะพอมีประสบการณ์อยู่บ้างแต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่รู้ อันที่จริงก็คงไม่มีใครที่จะรู้ไปเสียหมดทุกอย่างหรอก จริงไหม เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าทำไมหม่อนถึงมาทำงานสายนี้ได้ทั้งที่ไม่ได้เรียนจบด้านไอทีมาโดยตรง

ก่อนจะมาเป็น frontend developer

หม่อนเป็นเด็กต่างจังหวัด โตมากับครอบครัวที่ปลูกฝังความรู้สึกอยากเป็นครูมาตลอดเพราะพ่อก็เป็นข้าราชการครูที่เกษียณแล้ว หม่อนเลยเลือกเส้นทางการเป็นครู แล้วก็เรียนจบปริญญาตรีศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจและคอมพิวเตอร์ศึกษา จาก ม.เกษตรศาสตร์ 

ซึ่งจะว่าไปก็แทบจะไม่เกี่ยวกับการทำงานเป็น frontend developer เลย แม้จะพอมีพื้นฐานการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา C++ มาบ้างตอนมัธยม แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกชอบการเขียนโปรแกรมมากนัก พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้เรียน Python 

จากนั้นตอนอยู่ปี 5 หม่อนมีโอกาสได้ไปฝึกสอนที่โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ อยู่สองเทอม เป็นครูคอมพิวเตอร์ ก็ได้สอนเขียนภาษา Python กับ Scratch ให้เด็กนักเรียนชั้น ม.1 นิดหน่อย แต่พอมาฝึกสอนจริงรู้สึกว่าสภาพแวดล้อม สังคมที่เจอ มันไม่ใช่แบบที่ชอบ รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเรา แม้ว่าจะทำงานได้ดีก็ตาม 

พอฝึกสอนจบ ก็เป็นช่วงโควิดพอดี ยังไม่มีการเปิดสอบข้าราชการครู ได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่เป็น frontend developer ซึ่งจบสาย computer engineering มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยมัธยมแล้ว ได้เห็นว่าเพื่อนสามารถเขียนโค้ดจากหน้าเปล่าๆ ให้รันเป็นเว็บไซต์ได้ก็รู้สึกว่า ว้าว! มันน่าทึ่งมาก ก็เลยปรึกษาเพื่อนว่าต้องทำอย่างไรถึงจะทำแบบนี้ได้บ้าง เพื่อนจึงให้คำแนะนำว่าควรเริ่มต้นอย่างไร

หม่อนจึงเริ่มต้นจากศูนย์เลย เริ่มจากการเข้าคอร์สเกี่ยวกับ frontend development ใน Udemy เป็น bootcamp ที่ให้เราได้เรียนหลายๆ ภาษารวมกัน เช่น Javascript, HTML, CSS อะไรพวกนี้ พอเรียนไปได้ประมาณสามเดือนกว่าก็เริ่มโปรเจกต์สร้าง landing page ในเว็บไซต์ของตัวเอง 

ซึ่งตอนนั้นก็วางแผนไว้ว่า ถ้าไปสาย developer ไม่รอดก็ยังมีแผนสำรองคือกลับมาสอบเป็นครูได้ เพราะตอนนั้นยังไปเข้าอบรมเพื่อสอบครูผู้ช่วยอยู่

เริ่มต้นเป็น junior frontend developer

พอเริ่มหางานสาย developer ก็ไปเจอบริษัทหนึ่ง เป็นดิจิทัลเอเจนซีที่เขาเปิดรับ junior frontend developer เลยลองสมัครไป แล้วเขาก็รับเข้าทำงาน ก็เลยไปทำงานที่นั่นเป็นที่แรก เขาก็สอนงานให้เราตั้งแต่เริ่มพื้นฐานเลย

ทีนี้พอทำงานไปได้ประมาณหนึ่งปี หม่อนสนใจอยากสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ อยากเป็น global citizen กับเขาบ้าง แต่บริษัทที่ทำตอนนั้นเป็นบริษัทไทย มีแต่คนไทย คิดว่าคงไม่ได้พัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ก็เลยพยายามมองหางานในบริษัทต่างชาติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดู 

จนกระทั่งวันหนึ่งได้รู้จัก Seven Peaks ตอนที่บริษัทเก่าพามางาน React Meetup ของที่นี่ รู้สึกว่า community ของ React มันกว้างมาก มีคนมาจากหลากหลายเชื้อชาติ แล้วก็ประทับใจสถานที่ด้วย เพราะว่าเดินทางสะดวก สิ่งอำนวยความสะดวกก็มีพร้อมสรรพ 

หลังจากนั้นก็เห็นว่าทาง Seven Peaks เปิดรับ junior frontend developer ฝั่ง React พอดี ก็เลยลองสมัครดู ทีแรกก็กลัวเหมือนกันว่าจะผ่านสอบสัมภาษณ์ไหม เพราะหม่อนก็ไม่ได้มีพื้นฐานการเรียนโรงเรียนอินเตอร์มาก่อน ไม่ได้หัดสื่อสารกับคนต่างชาติเลย แต่ว่าก็ลองดู แล้วก็ผ่าน เลยได้เข้ามาทำงานที่นี่ จนถึงปัจจุบันก็ผ่านมาปีกว่าแล้ว

เหตุผลที่เลือกเบนเข็มจากครูมาเป็น developer

หม่อนมองว่า แม้การเป็นครูจะมีโอกาสได้เรียนรู้ ได้พัฒนาการสอนของตัวเองอยู่เสมอ แต่พอไปถึงจุดหนึ่งที่อาชีพเรามั่นคงแล้วก็คงจะอยู่ไปเรื่อยๆ ทำงาน รับเงินเดือน ไม่ต้องทำอะไรมากเพื่อเลื่อนขั้น ทุกอย่างเป็นไปตามเวลาและขั้นตอน ก็เลยกลัวว่าจะไม่ได้พัฒนาตัวเองเท่าที่ต้องการ 

ในขณะที่การเป็น developer มันคือโลกที่กว้างมากๆ ไม่สามารถหยุดพัฒนาตัวเองได้เลย ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอเพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงาน ทั้งยังไม่ต้องทำงานที่ออฟฟิศอย่างเดียว สามารถทำงานที่บ้านได้ มีความยืดหยุ่นมากกว่า แถมยังมีโอกาสเติบโตได้ไกล ยิ่งถ้าสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ก็สามารถไปทำงานต่างประเทศได้ ในขณะที่การเป็นครูคงต้องอยู่แต่ในประเทศไทยไปตลอด 

หม่อนไม่ได้รู้สึกชอบการเป็นครูมากขนาดที่จะประกอบอาชีพนี้ไปตลอด พอคิดว่าเราต้องทำงานแบบนี้ไปจนเกษียณเพื่อให้ได้รับบำนาญมันน่าจะฝืนเกินไป เมื่อมาเจอสิ่งใหม่ที่ดูท้าทายอย่างการเป็น developer ก็เลยอยากลองดู คิดว่ามาทางสายนี้ดีกว่า จะได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ ค่าตอบแทนของ developer ก็สูงกว่าครูด้วย

ทำไมต้อง frontend 

ที่สนใจเฉพาะ frontend เพราะว่าตอนแรกก็เคยไปศึกษาเพิ่มเติมว่า backend development เป็นอย่างไร แต่รู้สึกไม่ค่อยชอบ backend มันซับซ้อนมากและมองไม่เห็น ไม่รู้ว่าเขียน API แล้วมันจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่เหมือน frontend ที่พอเราเขียนโค้ดแล้วสามารถมองเห็นภาพได้เลยว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร รวมถึงชอบตกแต่งหน้าตาของเว็บไซต์ CSS ให้มันดูสวยงามด้วย 

นอกจากนี้ เพื่อนที่เป็น frontend developer ยังสามารถให้คำแนะนำเราได้ ตอนนั้นเพื่อนบอกว่า frontend มันไม่ยากนะ ใครๆ ก็ทำได้ แค่ลองศึกษาดู หม่อนก็เลยคิดว่า frontend น่าจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้เราสามารถเริ่มเป็น developer ได้

ความสนุกของการเป็น frontend developer

พอมาเป็น frontend developer จริงๆ ก็รู้สึกว่ามันไม่ยากอย่างที่เพื่อนบอกจริงๆ แค่เราต้องมีพื้นฐานการเขียนโปรแกรม แล้วเรียนให้เข้าใจว่าตรรกะของมันคืออะไร ต้องเขียนเงื่อนไขต่างๆ อย่างไรโปรแกรมจึงจะทำงานได้ โชคดีที่หม่อนมีพื้นฐานจากสมัยเรียนมาบ้าง แม้จะดูเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่เรียนมาด้านนี้โดยตรงก็ตาม

จริงๆ แล้วก็มีทั้งส่วนที่สนุกและกดดัน 

ความสนุกของ frontend คือ ตอนที่เราเขียนโค้ดแล้วผลลัพธ์มันออกมาเป็นอย่างที่เราต้องการ พอได้เห็นการทำงานของมันแล้วเราจะรู้สึกเติมเต็ม เหมือนว่านี่แหละคือสิ่งที่เรารอคอย 

แต่มันจะกดดันตอนที่เราเจอโจทย์ที่ซับซ้อน หรือความรู้เรายังไม่มากพอที่จะเข้าใจแล้วทำตามโจทย์เหล่านั้นได้ ก็จะไม่มั่นใจว่าเราจะทำได้ไหม แต่ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ผ่านมันไปได้เพราะเราไม่ได้ทำงานแค่คนเดียว เรามีทีมคอยช่วย

คำแนะนำจากคนในทีม

ในทีมจะเต็มไปด้วยรุ่นพี่ หรือเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์มากกว่าคอยให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ เมื่อไรที่รู้สึกกดดันจากการแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ได้ถึงกับเจอทางตันเพราะสามารถขอความช่วยเหลือจากพวกเขาได้

บางครั้งหม่อนต้องสร้างฟีเจอร์ที่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ก็ต้องขอคำแนะนำจากเพื่อนในทีม เขาก็จะแจกแจงว่าเราต้องวางแผนอย่างไร มีส่วนไหนบ้าง เริ่มต้นกระบวนการอย่างไร จึงจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ หม่อนก็จะพอนึกภาพออก และสามารถจับจุดได้ว่าควรเริ่มอย่างไรและต้องทำอะไรต่อ 

หรือบางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่เราลงมือทำไปบ้างแล้วแต่ติดขัดปัญหาบางอย่าง ก็จะขอคำชี้แนะจากพวกเขา เขาก็จะบอกว่าลองทำแบบนี้สิ แบบนั้นสิ ก็จะผ่านอุปสรรคไปได้

PIC00163

ความรู้สึกที่ได้ทำงานในบริษัทต่างชาติอย่าง Seven Peaks

ตอนที่ทำงานในบริษัทไทย ก็รู้สึกว่าตัวเองเหมือนอยู่ใน comfort zone สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ง่ายดาย พอได้มาทำงานใน Seven Peaks ก็เหมือนเราได้ข้ามออกจาก comfort zone นั้น อาจจะมีหลายคนที่อยากมาทำงานที่นี่แต่ว่าไม่กล้า เหมือนเพื่อนของหม่อนที่ชวนมาทำงานด้วยกันที่นี่ แต่ไม่มาเพราะคิดว่ายังสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ดีพอ

หม่อนมองว่า ถ้าเราอยากทำงานในบริษัทต่างชาติจริงๆ เราก็น่าจะเริ่มต้นเรียนภาษาอย่างจริงจังได้แล้ว ถ้าพอสื่อสารได้ก็น่าจะลองไปสัมภาษณ์ดูก่อน อย่ามัวแต่กลัว ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ลงมือทำเสียที จริงๆ ตอนแรกหม่อนก็กลัวมาก เพราะไม่มีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติเลย แค่พอพูดได้บ้าง ตอนมาสัมภาษณ์ก็ยังกลัวอยู่ เลยต้องตั้งใจฟังมากว่าหัวหน้างานที่มาสัมภาษณ์เขาถามอะไร 

พอเข้ามาทำงานแล้วก็ยังกลัวการสื่อสารกับคน แต่เพราะต้องสื่อสารทุกวัน มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เลยทำได้ไปโดยอัตโนมัติ และไม่ได้รู้สึกกลัวแล้ว แม้ว่าเราจะไม่ได้เก่งเหมือนคนอื่นๆ ที่ฟังภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจทันทีเลย แต่เราต้องตั้งใจมากกว่าเขา ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อย่างนั้นสมองจะเบลอ ฟังไม่ออก 

แต่ถ้าวันไหนฟังไม่ทันจริงๆ ก็แค่บอกให้เขาพูดหรืออธิบายซ้ำอีกรอบจนเราเข้าใจ เขาก็ไม่ได้รู้สึกหงุดหงิดอะไรที่เราฟังไม่เข้าใจ แต่เขาจะหงุดหงิดถ้าหากเราฟังไม่รู้เรื่องแล้วไปทำตามที่เราเข้าใจแบบผิดๆ เพราะมันจะทำให้งานมีปัญหา ถ้าไม่แน่ใจก็อาจจะทวนให้เขาฟังว่าเราเข้าใจแบบนี้ถูกไหม

แล้วก็รู้สึกว่าบริษัทต่างชาติมันเป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ เพราะได้สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับเพื่อนร่วมงานหลากหลายเชื้อชาติ มีทั้งคนอังกฤษ ฝรั่งเศส แอลจีเรีย อินเดีย เนปาล เมียนมา อิสราเอล อิหร่าน อัฟกานิสถานด้วย เยอะมาก เป็นสิบเชื้อชาติได้ ซึ่งการได้เจอคนจากหลากหลายชาติทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ก็เลยกลายเป็นเรื่องสนุกอีกอย่างหนึ่งในการทำงาน

ยกตัวอย่างเช่น มีวันหนึ่งสั่งพิซซ่ามากินด้วยกันกับเพื่อนในทีม คนไทยก็จะชอบใส่ซอสมะเขือเทศใช่ไหม หม่อนก็เลยใส่ซอสไป แต่ทุกคนจะบอกว่า

“No! ใบหม่อน อย่าใสซอสนะ” 

เขารับไม่ได้เรื่องการกินพิซซ่ากับซอสมะเขือเทศของคนไทย เขาใส่แต่พวกออริกาโน เกลือ อะไรแบบนั้นมากกว่า ก็ตลกดี เป็น culture shock อย่างหนึ่ง

สไตล์การทำงานบริษัทต่างชาติมีความแตกต่างจากบริษัทคนไทย ด้วยความที่เราเป็นคนไทยเหมือนกัน คนจะมีความสนิทสนมกันมากกว่า บางครั้งมีการใช้อารมณ์ส่วนตัว หรือนำเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในบริษัทต่างชาติ คนจะไม่ค่อยใช้อารมณ์กัน ใช้แค่เหตุผลคุยกัน ไม่มีการกระทบกระทั่งกันด้วยเรื่องส่วนตัว คุยกันแค่เรื่องงาน

แม้ว่าในบริษัทต่างชาติอย่างที่นี่ เพื่อนร่วมงานบางคนอาจจะทำงานจากระยะไกล เขามาคอมเมนต์เชิงลบกับงานของเรา แต่เราไม่ได้มองเห็นสีหน้าท่าทางเขา บางทีเราอาจจะรู้สึกในแง่ลบกับเขาไปบ้าง แต่จริงๆ มันก็เป็นเพราะเรื่องงาน เขาไม่ได้ทำตัวไม่ดีกับเรา และมันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่หม่อนจะมองว่ามันเป็นปัญหา

Scrum master ที่ทำงานด้วยก็รับฟังความคิดเห็นของเราดี เคารพในการตัดสินใจของเรา หรือถ้ามีปัญหาอะไรก็ไปบอกเขาได้ เขาจะช่วยแก้ไข

นอกจากนี้ ยังชอบที่บริษัทพยายามหากิจกรรมให้พนักงานทำร่วมกัน เช่น งานสงกรานต์ ฮาโลวีน หม่อนรู้สึกสนุกมาก ได้เจอหน้าทุกคน พูดคุยกันสนุกสนาน เพราะตัวเองเป็นคน extrovert อยู่แล้วด้วย 

การเป็น developer ที่เป็น extrovert ด้วยก็ถือว่าหายากเหมือนกันนะ เพราะคนส่วนใหญ่จะออกไปทาง introvert หน่อย รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแกะดำ ก็เลยพยายามคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เขาเพิ่งย้ายมาทำงานในเมืองไทย ไม่อยากให้เขารู้สึกว่าไม่มีเพื่อน หม่อนอยากเป็นเพื่อนให้เขาได้ เขาอาจจะไม่เคยกินอาหารไทย เราก็อาสาแนะนำเขา

ด้วยเหตุนี้ หม่อนก็เลยได้อยู่ในทีม engagement ด้วย ซึ่งเป็นทีมที่ทางเว็บทีมตั้งขึ้นมาเพื่อหากิจกรรมให้ทุกคนได้ทำร่วมกัน เช่นกินข้าว นั่งคาเฟ่ ปั่นจักรยาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ก็เลยรู้สึกเหมือนได้ปล่อยพลัง บางทีก็แอบเหนื่อยนิดหน่อย เพราะต้องคอยประสานงานร้านต่างๆ อยู่เรื่อยๆ คอยจัดการเรื่องเมนูอาหารให้สมาชิกในทีม แต่ก็มีข้อดีตรงที่ได้กินอาหารในร้านที่อยากกิน

อีกอย่างตอนที่ทำงานที่แรกจะมีลักษณะการทำงานของโปรเจกต์ที่เป็นลอตๆ ขนาดย่อยไป พอจบโปรเจกต์ก็ทำอย่างอื่น พอมาอยู่ที่ Seven Peaks ก็ได้ทำงานที่เป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ เป็นโปรเจกต์ระยะยาวมากขึ้น 

อย่างตอนนี้ที่หม่อนอยู่ในโปรเจกต์ NodesNow จะมี scope งานที่ค่อนข้างกว้าง และต้องทำนาน 2-3 ปี ก็เลยได้ทำมาตั้งแต่ต้น แล้วสร้างฟีเจอร์ใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันไม่ได้มีสิ่งที่เรารู้อย่างเดียว มีสิ่งที่เราไม่รู้เยอะมาก ซึ่งเป็นโอกาสให้เราได้เติบโต ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจสายงาน frontend มากขึ้น ไม่ใช่แค่เขียนหน้าเว็บไซต์ธรรมดาๆ เริ่มเขียนซอฟต์แวร์ที่ทำให้ฮาร์ดแวร์ทำงานได้PIC00424

ความท้าทายในการทำงาน

หม่อนคิดว่าความท้าทายอย่างแรกเลยคือการสื่อสาร เพราะการสื่อสารภายในทีมบางครั้งก็เป็นอุปสรรคได้เหมือนกัน ด้วยความที่ทุกคนต้องสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ แต่คนในทีมมีหลากหลายเชื้อชาติ บางคนก็มีสำเนียงที่ฟังยากมาก และตอนแรกๆ หม่อนก็ยังไม่ชินกับสำเนียงของพวกเขา

เนื่องจากโปรเจกต์ NodesNow ที่ทำอยู่จำเป็นต้องทำการทดสอบที่ออฟฟิศอยู่ตลอด บริษัทก็จะสอบถามว่าใครจะเป็น developer ที่จะสามารถอยู่ประจำออฟฟิศได้บ้าง หม่อนทำงานแบบไฮบริดก็จริง แต่เข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ ด้วยความที่เป็นคนที่มาเข้าออฟฟิศบ่อยๆ หน้าที่อยู่ประจำจึงเป็นของหม่อน เลยต้องทำหน้าที่สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานบางคนที่ทำงานระยะไกลจากต่างประเทศ การสื่อสารกับพวกเขาให้เข้าใจกันอย่างชัดเจนจึงเป็นสิ่งที่ยาก บางครั้งฟังไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์แทน

อีกเรื่องคือพวกปัญหาทางเทคนิค เช่น หม่อนได้ไปทำงานชิ้นหนึ่ง ตอนแรกก็เข้าใจว่าตัวเองทำได้ แต่พอไปศึกษาโค้ดแล้วกลับพบว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน และมันค่อนข้างใช้เวลานานถ้าจะต้องมาเรียนรู้เรื่องนี้ ก็เลยลองทำดูก่อน เผื่อว่าจะทำได้ 

แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้จริงๆ แถมยังเสียเวลาทำอยู่นานสองนาน เลยไปบอก Scrum master ว่าเราติดปัญหา ต้องการให้ senior frontend developer มาช่วยหน่อย ก็เลยได้อีกคนมาช่วย implement ในส่วนฟังก์ชันนั้น แล้วเราก็แยกส่วนไปทำในส่วนของ UI แทน

เลยมองว่ามันเป็นปัญหาตรงที่เราไม่สามารถทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ ซึ่งวิธีแก้ปัญหานี้ก็คือการไปเข้าคอร์สออนไลน์เพื่อศึกษาเพิ่มเติม หลังจากที่ได้คุยกับหัวหน้าว่าหม่อนยังขาดความรู้เรื่องนี้อยู่ ซึ่งเขาก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะมันเป็นโซลูชันแบบคัสตอม ไม่ใช่เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับ React ที่คนมักจะได้ใช้งาน แม้แต่คนที่เชี่ยวชาญ React ก็อาจจะไม่รู้ และซับซ้อนพอสมควร

เอาจริงๆ หม่อนก็เกรงใจนะที่ต้องคอยไปปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานอยู่บ่อยๆ แม้ว่าพวกเขาจะยินดีให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้แสดงท่าทีรำคาญ ถ้าคนนั้นไม่ว่างจริงๆ เขาก็อาจจะให้อีกคนมาช่วยแทน 

การที่ต้องให้คนอื่นช่วยบ่อยๆ บางทีก็รู้สึกเหมือนว่าเราไม่มีความรู้มากพอ ขั้นแรกหม่อนก็ต้องพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน แต่จะเสียเวลามากเกินไปในการพยายามอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงมันไม่มีใครที่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เราทำงานเป็นทีม เวลามีปัญหาอะไรก็สามารถพูดคุยกับทีมได้ เพราะเราเป็นทีมเดียวกัน เป้าหมายของเราคือการทำงานในแต่ละโปรเจกต์ให้เสร็จทันเวลา

ถ้าเราไม่รู้แล้วติดอยู่กับมันนานๆ ดองปัญหาเอาไว้ โดยไม่ขอความช่วยเหลือมันทำให้ทุกคนในทีมยิ่งเสียเวลา บางทีโปรเจกต์มันอาจจะเสร็จช้าเพราะว่าเราพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองนานเกินไปก็ได้ มันต้องมีจุดหนึ่งที่เราต้องตัดสินใจให้ได้ว่า ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องขอความช่วยเหลือ

ความท้าทายอย่างที่สามคือโปรเจกต์ที่ทำอยู่อย่าง NodesNow นี่แหละ เพราะว่ามันเป็นโปรเจกต์ที่มีฟีเจอร์ใหม่ให้ทำเรื่อยๆ แทบทุก sprint เขาต้องการฟีเจอร์เพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากโปรดักต์ของเขามันไม่ใช่แค่เว็บไซต์ธรรมดาแต่มันคือการเขียนแอปพลิเคชันให้ไปรันบนอุปกรณ์ touchscreen 

ซึ่งอุปสรรคก็มีเยอะ เพราะการทดสอบบางอย่างก็ไม่สามารถทำบนคอมพิวเตอร์ของเราได้ ต้องไปทำบนอุปกรณ์ touchscreen เพื่อดูว่ามันแสดงผลอย่างที่เราคาดหวังไว้ไหม ฟีเจอร์บางอย่างเราก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เลยต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาคำตอบอยู่เรื่อยๆ แล้วยังมีฟีเจอร์ที่จะเพิ่มเข้ามาอีกเยอะมาก เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดจริงๆ

ทบทวนเส้นทางของตัวเอง

รู้สึกว่าตัดสินใจถูกที่เลือกมาเป็น frontend developer เพราะมีความสุขกับการทำงาน แม้ว่าบางทีจะเครียดบ้างแต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ตอนแรกที่หม่อนบอกพ่อว่าจะเลือกเรียนครู เขาก็ดีใจนะ เพราะมันเป็นวิชาชีพเดียวกับพ่อและมีความมั่นคง พอเรียนจบเขาก็ยิ่งคาดหวังว่าเราจะได้เป็นครูแน่ๆ

จนมาถึงจุดที่หม่อนบอกกับพ่อว่าจะไม่ไปสอบครูแล้วนะ เพราะตอนนั้นได้งานเป็น frontend developer ที่บริษัทแรกแล้ว ผ่านโปรแล้วด้วย รู้แล้วว่าเราเหมาะกับงานนี้ ไม่อยากกลับไปทำงานเป็นครูอีกแล้ว 

ซึ่งเขาก็ไม่เห็นด้วยที่เราไม่ไปสอบ เขาอยากให้อย่างน้อยเราก็ไปสอบเสียก่อน แต่หม่อนแน่ใจว่าถึงสอบได้ก็ไม่เป็นครูแน่ๆ ไปก็เสียเวลาเปล่าๆ สุดท้ายก็ไม่ไป 

หลังจากที่หม่อนได้ทำงาน developer แล้วที่บ้านรู้ว่าเราได้รายได้เท่าไร พ่อก็ได้รู้ว่าการทำงานบริษัทเอกชนกับเป็นข้าราชการมันรายได้ต่างกันเยอะจริงๆ เขาคงยอมรับกลายๆ จึงไม่พูดถึงเรื่องให้เป็นครูอีกเลย อีกอย่างเขาก็คงคิดว่ามันเป็นชีวิตของเรา เราต้องเผชิญกับสิ่งนั้นเอง ก็เลยไม่มีปัญหาอะไร

หม่อนภูมิใจนะที่ตั้งแต่ทำงานมาก็สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องขอเงินจากพ่อแม่อีก ถ้าหม่อนเลือกที่จะเป็นครู คงต้องพึ่งพาพ่อแม่มากกว่านี้ หรืออาจจะมีเงินเดือนเหลือให้พ่อแม่ไม่มากนัก แค่ดูแลตัวเองก็ลำบากแล้ว แต่ตอนนี้มีรายได้ที่ดี พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วงอะไรและไม่ต้องให้เงินเราใช้

นอกจากนั้น หม่อนรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมของ developer ก็ดีกว่า สังคมของ developer นั้นเปิดกว้างทางความคิดและมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนโต้แย้งกันด้วยเหตุผลและความรู้ที่ตัวเองมี 

สมมุติว่ามีคนบอกว่าเราจะทำฟีเจอร์หนึ่งขึ้นมา แล้วมีใครสักคนแย้งว่าการทำแบบนั้นมันไม่โอเค ทำให้กินทรัพยากรระบบ อย่าง กิน RAM หรือ CPU มากเกินไป เราก็สามารถคุยกันได้ ไม่มีใครมาเพ่งเล็งว่าใครอายุงานมากกว่า ใครความรู้มากกว่า ไม่มีใครรู้สึกว่าถูกครอบงำ แค่ใช้เหุตผลมาพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งที่เราพูดไปมันสมเหตุสมผล

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน

อย่างแรกคือ ได้เรียนรู้เรื่องทางเทคนิคเกี่ยวกับ frontend ซึ่งก็ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่สองคือ ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมการทำงาน ตอนแรกๆ อาจจะวางตัวไม่ถูกว่าต้องทำตัวอย่างไร พูดคุยเรื่องส่วนตัวได้แค่ไหน ตอนนี้ก็เลยโตขึ้น รู้ว่าต้องวางตัวอย่างไร

อย่างที่สามคือมีเพื่อนมากขึ้น เพราะเพื่อนร่วมงานบางคนก็กลายมาเป็นเพื่อนในชีวิตจริง นอกเวลางานก็ไปเที่ยวด้วยกัน มีปัญหาชีวิตก็ปรึกษากันได้

มองไปยังอนาคต 

หม่อนรู้สึกว่าอยากเรียนรู้เกี่ยวกับ frontend ไปเรื่อยๆ อยากโตไปเป็น senior frontend developer ไม่ได้มองไปทาง backend เลย แม้จะรู้ว่าถ้าตัวเองเข้าใจเรื่อง backend ด้วยจนเป็น full-stack developer ได้จะหางานง่าย มีโอกาสก้าวหน้ามากกว่าก็ตาม เพราะบริษัทชอบคนที่มีความรู้แบบครอบคลุม แต่เพราะเราชอบทางนี้มากกว่าอยู่ดีก็เลยยังไม่สนใจ

แต่ละปีที่ผ่านไป หม่อนจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าตัวเองควรจะเติบโตอย่างไรบ้าง อย่างปีนี้ก็ตั้งเป้าว่าอยากจะเรียนรู้เรื่อง Azure DevOps ซึ่งหม่อนไม่เคยรู้มาก่อน ก็เลยตั้งใจว่าจะทำให้ได้ ปีหน้าก็อาจจะมีเป้าหมายใหม่ เช่น WebGL เพื่อให้มันสอดคล้องกับโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่ จะได้นำไปต่อยอดและใช้งานจริงได้

อยากรู้เรื่องของ WebGL ให้มากขึ้นว่าจะสร้างการเคลื่อนไหวใน canvas ได้อย่างไรบ้าง ตรรกะที่ใช้คำนวณการเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร เพราะคนในทีมที่รู้เรื่องนี้ก็มีไม่เยอะ ถ้าหม่อนรู้เรื่องนี้ก็น่าจะช่วยทีมได้ดีขึ้น งานที่รับผิดชอบก็จะหลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่เขียนโค้ดเพื่อแสดงผลบนเว็บไซต์อย่างเดียว 

คนที่สนใจอยากทำงาน frontend ควรเตรียมตัวอย่างไร

จริงๆ แล้วสมัยนี้มี tutorial สอนเกี่ยวกับ frontend บนอินเทอร์เน็ตเยอะมาก เขาจะบอกหมดเลยว่า frontend คืออะไร เราต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เริ่มจากการอ่านบทความก่อนก็ได้ พอเริ่มคิดว่าน่าจะชอบแล้ว ก็ลองเข้าคอร์สเรียนออนไลน์ดู ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเข้าคอร์สแล้วยังไม่เข้าใจก็ลองสอบถามคนที่สอนดู

ในช่วงแรกๆ ที่กำลังฝึกหัดก็เตรียมตัวพบกับความล้มเหลวก่อน เพราะเราจะรู้สึกว่าเขียนโค้ดแล้วมันมีบั๊ก รันแล้ว error ตลอด ตอนเริ่มต้นก็ยิ่งไม่ค่อยมีความมั่นใจอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเปลี่ยนสายงานมาด้วย อาจจะรู้สึกอยากเลิกกลางคัน เพราะคิดว่าสู้คนอื่นไม่ได้ 

แต่จริงๆ แล้วเราต้องต่อสู้กับตัวเอง ว่าเราจะยอมแพ้หรือเปล่ากับเส้นทางนี้ 

บางทีเราแค่ไม่มีคนคอยแนะนำในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ แต่ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำงานสายนี้PIC00551 1

ฝากถึงคนที่อยากทำงานบริษัทต่างชาติ แต่ไม่มั่นใจในทักษะทางภาษา

แน่นอนว่าความถนัดแต่ละคนคงไม่เท่ากัน บางคนอาจจะพูดไม่ได้เลย ก็อาจจะต้องไปเข้าคอร์สเพื่อเรียนภาษาเพิ่ม ซึ่งในอินเทอร์เน็ตก็มีเยอะมาก ขนาดคนในทีมบางคนที่เป็น senior แล้ว เขาสามารถสื่อสารได้ แต่ก็ยังอยากเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเลย แม้แต่ตัวหม่อนเอง หัวหน้าก็ยังบอกตรงๆ ว่าควรไปเข้าคอร์สภาษาอังกฤษเพิ่มนะ เพราะบางทีเขาพูดอะไรมาเราก็ยังไม่เข้าใจ ก็เลยอยากฝากว่า

มันไม่เป็นไรหรอกที่เราจะไม่รู้ เราแค่ต้องพยายามหาความรู้ให้เพิ่มมากขึ้น

ถ้าไม่รู้ก็แค่ไปเรียน หรือว่าถ้าพูดได้แล้ว แต่ยังไม่มั่นใจ ก็ลองดาวน์โหลดแอปฯ หาเพื่อนชาวต่างชาติมาคุย ทำให้เรากล้าพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น มันมีหนทางมากมายที่จะฝึกเรื่องนี้ได้ พอเริ่มสื่อสารได้แล้วก็เปิดโอกาสให้ตัวเองดู แต่อย่าคิดว่าทำไม่ได้ 

ต้องเริ่มจาก mindset ที่ดีก่อนว่า “เราทำได้” เราถึงจะทำได้จริงๆ อย่ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม

ถ้าหากใครสนใจ อยากมาทำงานที่ Seven Peaks เหมือนหม่อน สามารถเข้าไปสมัครงานได้ที่นี่

A

 

ชญานิศ มานพ (ใบหม่อน), Frontend developer (React) ที่ Seven Peaks

คุณชญานิศ มีประสบการณ์ทำงานในวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ด้าน frontend development ใน digital agency มากกว่า 3 ปี และเป็น developer ผู้ไม่หยุดพัฒนาตัวเองแม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม