บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

ไม่มีวันไหนที่ผมจะหยุดพัฒนาตัวเอง

Marco Eccettuato 01

“ความเชื่อของผมคือการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและการนำแนวคิดนี้มาใช้คือหัวใจสำคัญในการแสดงถึงความเป็นมืออาชีพของผม”

สิ่งที่ทำให้ผมได้มาทำงานในตำแหน่ง Head of Platform Engineering ที่ Seven Peaks ก็คือการยอมรับความเปลี่ยนแปลงและมองหาโอกาสที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพของผมโดยไม่กลัวในสิ่งที่ยังไม่รู้

ตอนมัธยมผมเรียนสายวิทย์ แต่จริงๆ แล้วความสนใจของผมคือเรื่องของวรรณกรรมและภาษาต่างประเทศอย่างภาษาอังกฤษและเยอรมัน รวมไปถึงภาษาโบราณอย่างละตินและวิชาปรัชญา แต่ผมก็ไม่ได้ไปเรียนต่อในสายนั้นเพราะว่าในสมัยก่อนโอกาสที่คุณจะหางานทำด้วยวุฒิแบบนั้นได้ก็มีแค่นักวิชาการเท่านั้น

ซึ่งผมก็ไม่ได้อยากเป็นอาจารย์และผมคิดว่าตัวเองไม่ได้มีแพชชั่นหรือความอดทนมากพอที่จะสอนหนังสือใครได้ ผมเลยเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ที่ University of Turin แทน โดยวางแผนไว้ว่าจะจบมาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน จนกระทั่งผมได้รู้ว่าอาชีพนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากทำเช่นกัน

เรื่องหลักๆ ที่ทำให้ผมถอยออกมาจากคณะเศรษฐศาสตร์ก็คือข้อสอบที่มันยากจนทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่ในฝันร้าย หลังจากที่ผมสอบตกไปสองรอบ ผมก็เลยตัดสินใจย้ายคณะ

แน่นอนล่ะ มันไม่ใช่แค่เรื่องสอบตกหรอกที่ทำให้ผมอยากเปลี่ยนสาย แต่มันเป็นเพราะผมเปลี่ยนเป้าหมายในสิ่งที่อยากจะเป็นในอนาคตด้วย

ก็แปลกดีที่เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ผมออกจากคณะเศรษฐศาสตร์มา คณบดีก็สังเกตว่านักศึกษาที่สอบไม่ผ่านมีเยอะจนผิดปกติ เพราะที่คณะต้องใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูงมาก ทั้งๆ ที่ไม่ได้นำไปใช้กับเรื่องเศรษฐศาสตร์จริงได้สักเท่าไร ซึ่งจากตัวเลขโดยประมาณ 95% ของนักศึกษาที่นั่นจะสอบตก จนเขาเผยแพร่เอกสารออกมาว่า ถ้าหากนักศึกษาตกเยอะขนาดนี้ทั้งๆ ที่หลายคนก็ตั้งใจเรียน แสดงว่าอาจารย์ผู้สอนคือคนที่ต้องรับผิดชอบ หลังจากนั้นไม่นาน อาจารย์สอนคณิตศาสตร์ก็ออกจากคณะไป

ประสบการณ์เกี่ยวกับความล้มเหลวและการแก้ตัวในเรื่องดังกล่าวยังคงประทับใจผมมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากๆ ต่อการทำงานของผม โดยเฉพาะเมื่อผมต้องมาอยู่ในจุดที่ไม่มีใครสอนผมอีกแล้วนอกจากตัวเอง หากลูกน้องในทีมทำพลาดร้ายแรง มันจึงเป็นความผิดผมคนเดียว

อีกเรื่องที่ผมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นั้นก็คือ บางครั้งเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นเรื่องดีในท้ายที่สุด ซึ่งจริงๆ แล้ว การสอบตกครั้งนั้นเองที่ทำให้ผมเลือกเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์

แม้บางครั้งจะดูไม่ค่อยออกว่าเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นแย่จนเราไม่สามารถหาข้อดีจากมันได้เลยหรือเปล่า แต่ผมก็ได้ใช้หลักการคิดด้านการทำบัญชีสมัยที่ผมเรียนเศรษฐศาสตร์มาใช้ในงานไอทีอยู่บ่อยๆ

ผมเริ่มเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์เมื่อปี 1993 และจบตอนเดือนมีนาคม ปี 1998 

ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น ผมมีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกคือเครื่อง Commodore VIC-20 ซึ่งเป็นรุ่นที่ธรรมดามากๆ จากนั้นก็เป็นเครื่องที่ใช้งานขั้นสูงมากๆ ในสมัยนั้นอย่าง Plus/4 แล้วผมก็ทำอย่างที่เด็กหลายๆ คนสมัยนั้นทำกันคือเขียนโค้ดด้วยภาษา Basic จากนั้นก็หัดใช้พวกโปรแกรมสเปรดชีตกับโปรแกรมกราฟิกเพื่อทำตรีโกณมิติและแคลคูลัส รวมถึงเรียนภาษา assembly 

จนกระทั่งผมส่งเกมง่ายๆ ที่ผมเขียนเองด้วยภาษา Basic ไปยังนิตยสารเจ้าหนึ่ง แล้วก็ได้รับการตีพิมพ์

ผมตัดสินใจเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์เพราะผมจำได้ว่าผมชอบทำอะไรแบบนั้นตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น และถ้าให้มองตามความเป็นจริง งานสายนี้ก็ดูมีอนาคตสดใสมากๆ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในช่วงยุค 1990s ไปจนถึง 2000s

ผมหาเงินจ่ายค่าเทอมช่วงปีแรกด้วยการทำงานล้างจานในผับแถวบ้านตอนกลางคืน แต่พอปีหลังๆ ก็หาเงินด้วยการทำงานเป็นติวเตอร์สอนเกี่ยวกับ UNIX และภาษา C ให้กับห้องแล็บของมหาวิทยาลัย

ในช่วงเวลาเดียวกัน ผมก็เปิดคอร์สสอนในโรงเรียนสายอาชีพเพื่อสอนพวกผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ การใช้งานอินเทอร์เน็ต, อีเมล, Word, Excel, และอื่นๆ เพื่อความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน

ประสบการณ์เหล่านี้มีค่ามากเพราะว่ามันทำให้ผมได้มีโอกาสได้สอนคนอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วผมกลับผมว่าผมชอบสอน รวมถึงการเตรียมหลักสูตรและทำตามแผนการสอนด้วย จนถึงทุกวันนี้ มันก็ยังช่วยให้ผมได้ฝึกฝนทักษะในการสอนคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมต้องทำบ่อยๆ

ในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าผมจะไม่ได้เรียนด้านศิลปศาสตร์เพราะต้องการเลี่ยงการสอน แต่การสอนคนกลับกลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมสนุกมากกับมันมากที่สุดในการทำงานเลยเพราะว่ามันต่างกันกับการสอนทั้งชั้นเรียนที่มีคนหลายสิบคน แต่ผมมักจะได้สอนทีละคนเท่านั้น และเป็นคนที่สนใจในเรื่องนั้นๆ จริงๆ

เมื่อต้องสอน ผมจะรู้สึกว่าได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจริงๆ และยังได้แลกเปลี่ยนความสนใจในประเด็นนั้นๆ กับผู้เรียนอีกด้วย

หลังจากที่ได้ร่วมทำงานกับองค์กรการกุศล ซึ่งตอนนั้นผมเลือกทำกับสภากาชาด ผมก็มาเริ่มทำงานเป็นผู้ดูแลระบบในช่วงที่อินเทอร์เน็ตกำลังเฟื่องฟูในปี 1999 ที่บริษัทออกแบบแห่งหนึ่งที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับ Fiat ในเมืองตูริน

หลังจากทำงานที่นั่น ผมก็ย้ายไปอยู่ที่มิลาน ระหว่างช่วงแรกๆ ที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาฟรีแลนซ์ให้กับ Big Brother รวมถึง Mediaset ซึ่งต่อมาอีกนานหลายปี ประสบการณ์จากลูกค้าเหล่านี้ทำให้ผมได้รู้จักและได้มาทำงานกับ Seven Peaks อย่างทุกวันนี้ เพราะผมรู้สึกอยากกลับมาทำงานที่ปรึกษาตั้งนานแล้ว

อุปสรรคที่พบเจอมา

งานที่ Seven Peaks ของผมเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะว่าเราทำงานกับลูกค้าเจ้าใหญ่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งพวกเขาตั้งความคาดหวังไว้สูง แถมยังทำหลายโปรเจกต์และใช้หลายระบบพร้อมๆ กันด้วย เมื่อคุณต้องทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่ๆ อย่างที่ผมเคยทำมา หลายๆ ครั้งคุณก็จะติดขัดอยู่กับโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่งหรือติดปัญหาทางเทคนิคสักอย่างอยู่เป็นเวลานานหลายเดือน

ในฐานะที่ปรึกษา หรืออย่างที่เขาเรียกกันว่า “เอเจนซี” นั้น ผมก็จะได้ทำงานหลายโปรเจกต์และใช้งานเทคโนโลยีหลายแบบพร้อมๆ กัน

Marco Eccettuato 03

น่าแปลกใจมากที่หลายปีก่อนผมได้ค้นพบตัวตนใหม่ในการทำงานของผม นั่นก็คือ ผมสนุกกับการทำงานเป็นทีมมากกว่าการทำงานคนเดียว

ปกติแล้ว ผมจะตั้งเป้าหมายส่วนตัวไว้สูงและชอบทำงานคนเดียว แถมยังเป็น introvert หน่อยๆ ด้วย ดังนั้นผมก็เลยแปลกใจที่เพิ่งรู้ตัวว่าชอบทำงานเป็นทีม เพราะจริงๆ แล้วผมชอบบรรลุเป้าหมายด้วยการทำงานเป็นทีมมากกว่าทำงานคนเดียวเสียอีก

ผมคล้ายกับคนอิตาเลียนส่วนใหญ่ที่ชอบไปอยู่ต่างประเทศตรงที่ผมไม่ชอบทำงานท่ามกลางสังคมและวัฒนธรรมอิตาเลียนด้วยกันเอง

ผมมีคติในการทำงานที่ชัดเจนมาก และโฟกัสกับงานที่ทำอย่างเต็มที่ ผมไม่เคยมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมเลย ไม่ว่าจะที่ลอนดอนหรือที่นี่

ที่ Seven Peaks เรามีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูงมาก ผมไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นชาวต่างชาติคนเดียวในทีมหรือในที่ประชุมเลย ซึ่งมักจะเป็นปัญหาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่บริษัทอื่นๆ ในประเทศไทย

ที่นี่ ผมไม่ได้เจอกับปัญหาหลายๆ อย่างแบบที่เคยเจอกับในบริษัทอื่นที่เคยทำมา เพราะที่นี่มีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

การนำเครื่องมือหลากหลายมาใช้งานและเมตริกหลายอย่างสำหรับใช้ติดตามและวิเคราะห์นั้นมีการปรับเพื่อให้เราสามารถประเมินผลงานของพนักงานแต่ละคนได้แบบ objective

เราสามารถประเมินคุณภาพของโค้ดและกระบวนการทำงานต่างๆ จากเมตริกที่ทำงานแบบอัตโนมัติและมีความ objective เพื่อให้โค้ดมีคุณภาพและผลงานดี รวมถึงบรรลุเป้าหมายได้

ในบริษัทนี้ พวกเราผลักดันเรื่องนี้กันมาก เรียกว่ามากในระดับที่ผมไม่เคยเจอมาก่อนเลย และผมก็ชื่นชมเรื่องนี้สุดๆ สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างก็คือ การที่เรามีอำนาจตัดสินใจในการทำตามเป้าหมายด้วยการใช้เครื่องมือและฟีดแบ็กทุกอย่างที่เราคิดว่าจำเป็นเพื่อให้งานราบรื่น

สิ่งนี้สอดคล้องกับคติในการทำงานของผม นั่นก็คือ “ทำงานเหมือนหุ่นยนต์” คือเน้นการลงมือทำ ไม่สนใจเรื่องไร้สาระ และโฟกัสกับการส่งมอบงานเป็นหลัก

ผมไม่ชอบเลยที่จะต้องมานั่งถกเถียงกันไม่รู้จบ พูดจาอ้อมค้อม หรือการสร้างความชอบธรรมให้ความผิดของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ตรงข้ามกับหลักการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง, Agile, และการสร้างผลิตผล

เมื่อคุณมี task ให้ทำ คุณก็มีเดดไลน์ คุณก็ต้องรับผิดชอบมันให้ได้ โฟกัสกับมัน และทำมันให้สำเร็จ พร้อมสำหรับการตอบคำถามให้ชัดเจนว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่ แล้วก็อย่าพูดอะไรให้มันคลุมเครือจนเสียเวลาคนอื่น

ผมชอบคิดว่าการทำงานเหมือนเล่นเกม เพราะมันจะมีกฎและหน้าที่อยู่ ซึ่งถ้าทุกคนทำตามกฎและเคารพหน้าที่ ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามที่ทุกคนคาดหวัง 

ผมเป็นคนตรงไปตรงมามากๆ และด้วยบุคลิกนี้ เวลาทำงานก็อาจจะมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรด้วย เพราะผมพบว่าบางครั้งฟีดแบ็กในที่ทำงานก็กลายเป็นเรื่องที่คนเก็บเอาไปคิดเล็กคิดน้อยมากเกินไป

ในบางโปรเจกต์ผมเคยเจอคนที่ไม่ชอบเห็นคนอื่นได้ดีกว่าตัวเองเพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีภัยแทนที่จะมองว่ามันช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นในโปรเจกต์ต่อไป แนวทางที่ควรจะเป็นมากกว่าคือการเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้แม้ว่าจะต้องเรียนรู้จากพวก junior ก็ตาม ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะมีประสบการณ์ที่น้อยกว่าแต่ก็ทดแทนด้วยความกล้าที่มีมากกว่า

ผมอยากจะพูดว่า ในฐานะวิศวกรมืออาชีพ เราจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นตามข้อเท็จจริงได้โดยที่ไม่มีใครควรรู้สึกขุ่นเคืองใจ

จุดแข็งอย่างหนึ่งของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ผมสามารถแยกแยะระหว่างบุคลิกส่วนตัวกับบุคลิกในที่ทำงานได้ และด้วยเหตุนี้ผมก็จะไม่เก็บเอาอะไรไปคิดเล็กคิดน้อย และฟีดแบ็กทุกอย่าง ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือไม่ดี ก็จะนำไปพิจารณาเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น

บทบาทของผมที่นี่

การสร้างทีม platform engineering นั้นเกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีทีมเฉพาะในการดูแลเรื่องของ DevOps และ CI/CD ซึ่งคีย์เวิร์ดที่สองนั้นคือหัวใจสำคัญที่ผมโฟกัสในอาชีพของผม เรียกได้ว่าเป็น 90% ของงานเลยก็ว่าได้

มันย่อมาจาก continuous integration/continuous deployment ซึ่งสามารถเรียกได้ว่ามันคือระบบอัตโนมัติและไปป์ไลน์ นั่นเอง

นี่คือกระบวนการทำงานที่เราสร้างซอฟต์แวร์ จากนั้นใส่มันไปในขั้นตอน development, quality assurance, user acceptance testing, แล้วท้ายที่สุดก็คือ production

เมื่อทางผู้บริหารรู้ว่าพวกเขาต้องการทีมเฉพาะในการควบคุมกระบวนการเหล่านี้ แทนที่จะต้องพึ่งพาทีมอื่นในการร่วมกันจัดการ พวกเขาก็ตั้งทีมนี้ขึ้นมาแล้วผมก็สมัครมาทำหน้าที่คุมทีมนี้

ที่จริงคือ ผมตามหางานนี้กับพวกเขาเลย เพราะว่าพวกเขายุ่งมาก และผมก็สนใจงานนี้มากๆ

Marco Eccettuato 02

ผมมีโอกาสได้สร้างทีมงานขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น แล้วในที่สุดก็ตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยน platform engineering ให้กลายเป็นโปรดักต์ เราต้องการส่งมอบโปรดักต์หรือโซลูชันที่ขายได้ ซึ่ง platform engineering ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและไปป์ไลน์ รวมถึงการประกันคุณภาพด้วยระบบอัตโนมัติ การติดตามสถานะ และกระบวนการรักษาความปลอดภัย ที่ได้มาตรฐานและแยกส่วนกัน

Butterfly Effect ของผม

อาจจะฟังดูประหลาด ผมเกิดในอิตาลี แต่ว่าหลังจากที่อยู่ในลอนดอนมา 12 ปี ผมก็เริ่มคิดถึงแผ่นดินใหญ่ขึ้นมา อยากสัมผัสกับแผ่นดินของยูเรเชียอีกครั้ง อยากนั่งรถไฟดีๆ ไปตามเมืองใหญ่ต่างๆ

เพราะตอนอยู่อังกฤษ ผมรู้สึกโดนจำกัดพื้นที่ในเกาะเล็กๆ ที่ยิ่งรู้สึกเล็กลงไปอีกเมื่อเกิดเหตุการณ์ Brexit ซึ่งถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับผม เพราะในฐานะที่เป็นคนที่ภาคภูมิใจในความเป็นชาวยุโรป การต่อต้านความเป็นยุโรปแบบนี้คือการลิดรอนสิทธิและสถานะของเรา เรื่องนี้ผมยอมรับไม่ได้

ตอนนั้นผมมีตัวเลือกอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือย้ายไปเยอรมนี (ไม่มิวนิกก็เบอร์ลิน ซึ่งผมเคยไปที่นั่นอยู่สองสามครั้ง) และอย่างที่สองคือที่ไหนสักที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาเหตุหลักๆ ก็เพราะที่นั่นอากาศดี

ผมเคยไปฟิลิปปินส์รวมถึงไทยปีละสองครั้ง เป็นเวลาเจ็ดปีติดต่อกัน ซึ่งมักจะเป็นช่วงเมษายนที่เป็นเดือนเกิดผม และอีกครั้งในตอนเดือนตุลาคม

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2019 ช่วงที่ผมมาเที่ยวในประเทศไทย วันก่อนที่ผมจะเดินทางกลับอังกฤษ ผมได้เจอชาวเบลเยียมที่ใจดีมากๆ คนหนึ่งในร้านอาหารอิตาเลียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ผมเสียใจนิดหน่อยเพราะตอนนั้นผมไม่อยากกลับไปลอนดอน การได้คุยกับเขาเลยเปิดโอกาสหนึ่งให้กับผม ซึ่งทำให้ผมได้มาสมัครงานที่เดียวกับเขา นั่นก็คือ Allianz Technology Thailand

หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ผมก็ลาออกจากงานที่ Pearson ในลอนดอน ซึ่งหลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ก็เกิดโควิด-19 พอดี เป็นช่วงเวลาที่พอดีสุดๆ เพราะถ้าโควิด-19 เกิดก่อนหน้านั้นสักหน่อย ผมอาจต้องติดอยู่ในอังกฤษจนถึงตอนนี้ก็ได้

หลังจากเหตุการณ์เหล่านั้นผ่านไป ผมก็ยังคงนึกถึงคืนวันดีๆ ในลอนดอนที่ผมได้เจอกับเพื่อนร่วมงานและที่ปรึกษาเก่งๆ ที่ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจากพวกเขา รวมถึงหลักการ “5P” ด้วย ซึ่งก็คือ “Proper planning prevents poor performance” หรือ “การวางแผนอย่างเหมาะสมช่วยป้องกันไม่ให้ผลงานออกมาแย่” มันเป็นสิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ทุกวันและอยากให้คนอื่นๆ ทำได้บ่อยๆ เช่นกัน

ผมย้ายมาเมืองไทยเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2020 แล้วก็เริ่มการผจญภัยที่นี่นับแต่นั้นมา

ประสบการณ์ทำงานที่ Allianz สอนผมไว้หลายอย่างและทำให้ผมตระหนักถึงผลของการทำงานท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ ผมได้รับความสำเร็จและสร้างผลงานที่ดีมากๆ ไว้ที่นั่น

ไม่มีวันไหนที่จะหยุดพัฒนาตัวเอง

ความเชื่อของผมคือการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องและการนำแนวคิดนี้มาใช้คือหัวใจสำคัญในการแสดงถึงความเป็นมืออาชีพของผม

จากการศึกษาด้านมานุษยวิทยาของผม ทำให้ผมเชื่อมโยงแนวคิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกับสำนวนละตินที่ว่า “Nulla dies sine linea” หรือ “ไม่มีวันไหนที่จะหยุดพัฒนา”

หากแปลตรงตัว ก็จะแปลได้ว่า “ไม่มีวันไหนที่ไม่มีการสานเส้น” ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงประติมากรหรือจิตรกรชาวกรีกโบราณ ซึ่งหมายความว่า หากต้องการสร้างผลงานศิลปะ ก็จะต้องมีการลงมือสานเส้นหรือแกะสลักทุกๆ วัน

แต่แนวคิดนี้สามารถนำไปใช้ได้กับการพัฒนาทุกสิ่ง เพราะมันคือการหมั่นทำบางอย่างทีละเล็กทีละน้อยทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด การสร้างระบบอัตโนมัติ หรือการทำ Infrastructure as Code ก็ตามที ผมเชื่อว่าแนวคิดในการใช้ชีวิตนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอย่างโดยไม่มีข้อยกเว้น ในระยะยาวแล้ว สิ่งที่ทำเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันจะทำให้เกิดผลงานที่สวยงามได้ในที่สุด

เราไม่ควรมานั่งเสียใจว่าทำไมตัวเองยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะว่าสิ่งสำคัญคือการที่เราดีขึ้นทีละนิดๆ ทุกวัน แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ได้อยู่ตรงที่เดิม

ในช่วงปลายยุค 90s ในอิตาลี เกิดเหตุการณ์โปรเจกต์เส้นทางรถไฟที่ล้มเหลวของรัฐบาล เพราะพวกเขาต้องการเปลี่ยนทุกอย่างพร้อมๆ กันด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “โซลูชันระดับบิ๊กแบง” ซึ่งระบบที่ซับซ้อนแบบนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำสำเร็จ

พวกเขาพยายามสร้างเครือข่ายข้อมูลใหม่ขึ้นมาทดแทนของเดิมทั้งหมดและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงไอทีก็ประหลาดใจที่ได้เห็นว่าองค์กรที่ใหญ่ขนาดนั้นมีรูปแบบการทำงานที่โบราณและไร้ประสิทธิภาพมาก ซึ่งการพยายามทำหลายๆ อย่างพร้อมกันแทนที่จะใช้กลยุทธ์ทยอยย้ายข้อมูลทีละนิดก็นำไปสู่หายนะ

กลยุทธ์การพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่ผมพยายามใช้อยู่เป็นประจำจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมาได้

แนวคิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมเรียกว่าศาสนาสำหรับผมเลยล่ะ และที่ Seven Peaks ผมก็สามารถนำมันมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผมไม่ต้องพัฒนาโซลูชันที่เพอร์เฟกต์ในทันที เพราะในทางเทคนิคแล้วมันเป็นไปไม่ได้

เราพัฒนาและส่งมอบบางสิ่งบางอย่างโดยที่รู้ว่ามันยังไม่สมบูรณ์แบบ และเราก็จะพยายามพัฒนามันต่อไปในทุกๆ สองสัปดาห์ โดยเพิ่มคุณภาพขึ้นทีละนิดๆ จนสมบูรณ์

สิ่งที่ทำควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็คือ การรีวิวโค้ด ซึ่งเป็นแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของผมไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก การได้เรียนรู้เรื่องนี้ทำให้ผมได้พบกับ “อะฮ่า! โมเมนต์” เมื่อมีใครสักคนผุดไอเดียนี้ขึ้นมาแล้วทำให้ผมได้ตระหนักว่า ก่อนหน้านี้ผมมัวทำอะไรอยู่กันนะ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก แต่ผมอยากจะขอพูดถึงสักสองอย่าง นั่นก็คือเรื่อง ระบบอัตโนมัติและ Infrastructure as Code ที่เกิดขึ้นตามมา

ถ้าผมย้อนเวลาได้

ผมคงไม่คิดว่าจะทำอะไรที่ต่างออกไปนัก ประสบการณ์แย่ๆ ที่ผมเจอก็มักมาจากสิ่งที่มันอยู่เหนือการควบคุม และแม้ว่ามันจะฟังดูเย่อหยิ่ง แต่ผมรู้สึกว่าส่วนใหญ่แล้วผมทำงานได้ดีและภูมิใจกับมัน

ถ้าหากย้อนเวลาได้ ผมคงย้ายออกมาจากอิตาลีและอังกฤษก่อนหน้าที่ทำไปเสียอีก และถ้าผมรู้ว่ากรุงเทพฯ คือบ้านในอนาคตของผม ผมคงจะย้ายมาเมืองไทยให้เร็วกว่านี้

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรคิดก็คือการรู้ว่าเราใช้เวลาของชีวิตไปมากแค่ไหนในการทำงาน

พวกเราส่วนใหญ่ใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตในการทำงานที่ออฟฟิศ ดังนั้น เราควรทำให้ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วงที่เราสนุกกับมัน แน่นอนว่าผมก็สนุกกับงานและแน่ใจว่าเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่แรก เพราะนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักว่าทำไมผมถึงได้ย้ายที่ทำงานค่อนข้างบ่อยตลอดเส้นทางอาชีพของผม

ผมต้องการจะอยู่ในที่ทำงานที่แม้แต่ตอนสุดสัปดาห์ผมก็อยากให้มันถึงวันจันทร์เร็วๆ เพื่อให้ผมสามารถทำสิ่งที่คั่งค้างไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วให้เสร็จ เราไม่ควรใช้เวลาในวันทำงานเพื่อรอคอยวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือทำงานไปในแต่ละปีเพื่อรอคอยวันหยุดนักขัตฤกษ์ได้ หรือถ้าจะแย่ไปกว่านั้นคือ ทุกๆ วันจะต้องรอคอยให้ถึงเวลาห้าโมงเย็นเพื่อออกจากออฟฟิศ

ผมต้องการที่ทำงานที่ทัศนคติของผมจะได้รับการกระตุ้นหรือนำไปปฏิบัติตามอยู่เสมอ ดังนั้น ผมจึงอยากแนะนำทุกคนว่า ให้มองหาสิ่งเหล่านี้ในที่ทำงานของคุณอยู่เสมอ และอย่ายอมรับในอะไรที่ด้อยไปกว่านั้น

เมื่อพิจารณาตามประเด็นที่ว่ามา ผมจึงรู้สึกเป็นตัวเองที่ Seven Peaks และผมหวังว่ามันน่าจะเป็นบริษัทสุดท้ายที่ผมจะทำงานด้วย หลังจากที่ผมได้ประสบความสำเร็จและก้าวผ่านอุปสรรคทางเทคนิคกับที่นี่มาแล้วมากมาย นี่เป็นสิ่งที่ผมตั้งตารอคอยอยู่ทุกวัน

 

Marco Eccettuato Profile

Marco Eccettuato

Head of Platform Engineering ที่ Seven Peaks 

ด้วยประสบการณ์ในการทำงานยาวนานกว่า 24 ปี คุณ Marco คือบุคลากรผู้มีประสบการณ์สูงในด้าน platform engineering พร้อมด้วยทักษะในการพัฒนาซอฟต์แวร์ การวางระบบ และการจัดการฐานข้อมูลในระดับอาวุโส

เขามีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับทีมงานและบริษัทหลากหลายขนาด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชนหรือองค์กรของรัฐ แสดงถึงความยืดหยุ่นในฐานะที่ปรึกษาอิสระ

มีไอเดียทำโปรเจกต์อยู่ในใจใช่ไหม?
ให้เราช่วยคุณสร้างเทคโนโลยีตามความต้องการของคุณสิ
ติดต่อเรา