บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

Digital ID คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญในยุคนี้

Blog_TH_Digital ID_01

Digital ID คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญในยุคนี้

การยืนยันตัวตนเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่ต้องทำทั้งในชีวิตประจำวัน และเมื่อต้องติดต่อกับหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อเข้าถึงบริการบางอย่าง เมื่อเทคโนโลยีพัฒนา บวกกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากเดิมที่เราเคยใช้เอกสารหรือวัตถุบางอย่างในการยืนยันตัวตนก็เปลี่ยนมาเป็นข้อมูลดิจิทัลแทนแบบที่เรียกกันว่า “digital ID” บทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจว่า การยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ digital ID คืออะไร มีหลักการทำงานอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรต่อชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม

digital ID หรือ digital identity คืออะไร

digital ID หรือ digital identity คือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้ใช้สามารถยืนยันตัวตนก่อนการทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือสูง มั่นใจได้ว่าผู้ยืนยันตัวตนเป็นบุคคลนั้นจริง ซึ่งมีการนำไปใช้ในการเข้าถึงบริการออนไลน์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน 

โดยฝั่งของภาครัฐจะเน้นในการใช้เพื่อรับบริการจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ส่วนฝั่งเอกชนจะเน้นไปที่ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเพื่อซื้อขายสินค้า เปิดบัญชีธนาคาร หรือชำระค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ digital ID จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันธุรกิจ FinTech และ InsurTech ทั่วโลกให้ได้รับความนิยมและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ประโยชน์ที่ได้รับจาก digital ID

จากหัวข้อที่แล้ว คุณน่าจะพอมองออกแล้วว่าทำไมเราจึงควรนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ซึ่งที่จริงแล้วสามารถจำแนกประโยชน์ของมันออกมาได้อีกหลายข้อ เช่น

  • ประชาชนสามารถใช้บริการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนได้อย่างปลอดภัย มั่นใจว่าข้อมูลจะไม่ถูกลักลอบนำไปใช้ในทางทุจริต
  • ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปยังหน่วยงานของผู้ให้บริการเพื่อทำการยืนยันตัวตน และสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการอีกด้วย 
  • เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การเปิดบัญชีธนาคารหรือขอสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งนอกจากเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังช่วยลดปัญหาการใช้บริการเงินกู้นอกระบบได้
  • ลดความเสี่ยงของธุรกิจออนไลน์ในการถูกฉ้อโกงจากการปลอมแปลงตัวตนของเหล่ามิจฉาชีพ ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องสูญเสียทั้งเงินและเวลาในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
  • หน่วยงานต่างๆ ของรัฐสามารถประหยัดเวลาในการพิสูจน์ตัวตนของประชาชนและประหยัดงบประมาณในการพัฒนาระบบเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนได้
  • ช่วยให้หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐสามารถบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถวางแผนเพื่อรณรงค์และให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไปได้Blog_TH_Digital ID_02

หลักการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย digital ID

เพื่อให้คุณเข้าใจหัวใจสำคัญของ digital ID มาทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า การพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย digital ID นั้นแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

  1. Identification (การพิสูจน์ตัวตน) เปรียบเสมือนการสมัครเพื่อใช้บริการต่างๆ ในครั้งแรก โดยผู้ให้บริการจะขอข้อมูลระบุตัวตนจากผู้ใช้บริการเพื่อทำการพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นบุคคลนั้นจริง เช่น เบอร์โทรศัพท์, อีเมล, รูปถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หรือข้อมูล biometric เช่น สแกนลายนิ้วมือ ม่านตา หรือใบหน้า เป็นต้น จากนั้นผู้ใช้บริการจึงตั้งรหัสผ่านเพื่อลงชื่อเข้าใช้บริการในครั้งต่อไป
  2. Authentication (การยืนยันตัวตน) เป็นขั้นตอนที่ผู้ใช้บริการทำการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการว่าเป็นคนเดียวกันกับที่ให้ข้อมูลไว้หรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจใช้วิธียืนยันหลายรูปแบบผสมกัน เช่น กรอกรหัสผ่านที่ตั้งไว้ในขั้นตอนแรก, กรอกรหัส OTP ที่ได้รับจากผู้ให้บริการในมือถือ, สแกนลายนิ้วมือ เป็นต้น แตกต่างกันตามความเข้มงวดของระบบ

ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน digital ID

  • Entity คือ ประชาชนหรือนิติบุคคลที่ขอใช้บริการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้บริการ
  • Identity Provider (IdP) คือ หน่วยงานเอกชนที่ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแก่ผู้ขอใช้บริการ และทำหน้าที่ดูแลข้อมูลระบุตัวตนเหล่านั้น โดยสามารถรับหรือส่งข้อมูลยืนยันตัวตนกับหน่วยงานรัฐได้
  • Authorising Source (AS) คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บหรือเป็นเจ้าของข้อมูลยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการยืนยันตัวตนอยู่แล้ว เช่น ธนาคาร กรมการปกครอง หรือ สำนักงานเครดิตบูโร เป็นต้น ทำหน้าที่ยืนยันความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูลตามที่ IdP ร้องขอ

Relying Party (RP) คือ ผู้ให้บริการทางดิจิทัลซึ่งต้องขอผลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนจาก IdP เสียก่อนจึงจะสามารถอนุมัติให้ผู้ขอใช้บริการเข้าใช้งานได้ เช่น ร้านค้าออนไลน์ ธนาคาร โรงพยาบาล เป็นต้น

Blog_TH_Digital ID_03 Flow Charts - TH@2x

แผนผังแสดงกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากเว็บไซต์สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 

ตัวอย่างการใช้งาน digital ID ในประเทศไทย

  • DGA Digital ID เป็น ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ที่ใช้ในการให้บริการระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) ระบบศูนย์การบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) และบริการดิจิทัลของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการจัดหางาน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นต้น 

โดยระบบนี้จะใช้ข้อมูลบนบัตรประชาชนและเบอร์มือถือในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนซ้ำ เป็นการประหยัดทั้งเวลาในการใช้บริการของประชาชนและประหยัดงบประมาณในการพัฒนาระบบของหน่วยงานรัฐ

  • NDID หรือ National Digital ID เป็นระบบกลางสำหรับบริหารจัดการ digital ID ที่ใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการต่าง ๆ จากทางภาครัฐและเอกชนได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น 

โดยระบบใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนและรูปถ่ายใบหน้า บันทึกข้อมูลลงในบล็อกเชน ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการลงทะเบียน NDID มี 13 หน่วยงาน เป็นธนาคารพาณิชย์และธนาคารภาครัฐ 11 ธนาคาร ผู้ให้บริการเทเลคอม 1 หน่วยงาน และผู้ให้บริการ FinTech 1 หน่วยงาน ดังนี้ 

  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย  
  • ธนาคารทหารไทย
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารออมสิน  
  • AIS
  • J Venture

 

  • Mobile ID เป็นระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ใช้วิธีเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเข้ากับข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชน เสริมด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนและการจดจำใบหน้า ทำให้ประชาชนจะสามารถลงทะเบียนเพื่อให้ข้อมูลพิสูจน์ตัวตนและใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือในการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้อย่างสะดวกสบายทุกที่ทุกเวลา
  • ThaID (ไทยดี) คือ แอปพลิเคชันที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยใช้ข้อมูลบนบัตรประชนและรูปถ่ายใบหน้า เมื่อประชาชนเข้าไปใช้บริการจากทางภาครัฐหรือเอกชนที่ต้องมีการยืนยันตัวตน ก็สามารถเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชัน ThaID เพื่อยืนยันตัวตนได้เลยโดยไม่ต้องกรอกข้อมูล

ปรึกษาเราเพื่อนำ digital ID มาใช้กับโซลูชันของคุณ

เมื่อคุณได้เห็นความสำคัญของการใช้ digital ID และตัวอย่างการใช้งานจริงแล้ว หากต้องการพัฒนาโซลูชันที่เกี่ยวกับ digital ID เพื่อเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ digital transformation ขององค์กรคุณ สามารถติดต่อเราได้แล้ววันนี้ เพราะเราคือผู้เชี่ยวชาญในการทำ digital transformation และเข้าใจความต้องการของลูกค้าที่เป็น บริษัท FinTech ชั้นนำเป็นอย่างดี รับประกันคุณภาพด้วยผลงานมากมายที่ผ่านมา