บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

แม้จะรู้ว่ายาก แต่ผมก็อยากออกแบบโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้จริงๆ

Fluke-Expert-Spotlight

ผมทำงานออกแบบ UX/UI มาเกือบ 10 ปีแล้ว ทำงานที่ Morphosis มาได้ประมาณ 4 ปี เป็นพนักงานคนแรกของ Jeremie ตั้งแต่ตอนเริ่มเปิดบริษัทเลย ช่วงแรกๆ ก็ทำงานกันแค่สองคน ตอนนั้นยังเป็นแค่ junior UX/UI designer พอทำไปได้สองปีก็ออกไปหาประสบการณ์เพิ่มเติม แล้วสักพักก็กลับมา ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มทำโปรเจกต์ แอพพลิเคชั่นของ ttb พอดี แล้วก็ออกไปอีกรอบ พอรอบนี้กลับมาก็โยกมาอยู่ที่บริษัทแม่ของ Morphosis อย่าง Seven Peaks แทนจนถึงปัจจุบัน 

มาอ่านเรื่องราวทั้งหมดของผมกันครับ

เหตุผลที่เลือกมาทำงานสาย UX/UI

ที่จริงผมเริ่มรู้จักเรื่อง UX/UI มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว แต่ยังไม่เป็นกระแสที่ชัดเจนในเมืองไทย ตอนนั้นเรียนออกแบบนิเทศศิลป์ที่ลาดกระบัง ซึ่งที่นั่นเขาสอนกว้างมาก สอนทั้งเรื่องออกแบบโลโก้, typography, branding, packaging, videography, photography สอนหมดเลย จนกระทั่งตอนปี 3 มีวิชา web design ให้เลือกเรียน นั่นเป็นจุดแรกที่ผมได้ลองออกแบบเว็บไซต์ 

การออกแบบเว็บไซต์มันไม่ใช่ว่าเราจะออกแบบอย่างไรก็ได้เหมือน graphic design เพราะต้องเข้าใจเรื่องโค้ดและโครงสร้างของเว็บไซต์ ซึ่งพอผมได้เริ่มทำแล้วรู้สึกว่ามันสนุก ชอบที่จะเขียนโค้ด HTML และทำให้เว็บไซต์มันเป็นแบบที่เราต้องการ เพราะถ้ารู้โค้ดแล้ว เราสามารถสร้างเว็บไซต์แบบไหนก็ได้ อารมณ์เหมือนเด็กที่เพิ่งได้เลโก้มาชุดหนึ่ง พอเริ่มต่อเป็นโน่นเป็นนี่ได้ก็เกิดความสนุก 

จากนั้นก็เลยลองศึกษาเพิ่มเติม ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง หัดเขียนโค้ด CSS ปรับแต่งสีสัน สไตล์ของเว็บไซต์อย่างที่ตัวเองต้องการดู รวมถึงหัด JavaScript ด้วย ซึ่งทั้งการออกแบบและเขียนโค้ดมันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ผมเติบโตมาจนทุกวันนี้ จริงๆ มันก็ยากนะ สำหรับคนที่ไม่มีใครมาสอนหรือให้คำแนะนำ แต่เพราะว่ามันยิ่งทำยิ่งสนุก ก็เลยทำให้เรื่องเหล่านี้มันดูไม่ยาก

ตอนสมัยเรียนมีคนรู้จักเห็นว่าผมพอเขียนเว็บไซต์ได้ ก็มีคนติดต่อจ้างทำ พอเรียนจบก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์อยู่เกือบหนึ่งปี ซึ่งช่วงนั้นก็ได้ยินชื่อ Morphosis มาสักพักแล้ว แต่ยังไม่เห็นประกาศรับสมัคร ก็เลยติดตามมาเรื่อยๆ พอเขาเปิดรับสมัครจึงลองส่งอีเมลไป ซึ่งก็ได้รับเลือกให้มาทำงานที่นี่ในที่สุด

ประสบการณ์เป็นพนักงานคนแรกของ Morphosis

ผมพอเข้าใจอยู่แต่แรกแล้วว่าบริษัทที่เพิ่งเปิดใหม่น่าจะเป็นอย่างไร ไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นบริษัทใหญ่โตอะไร ตอนนั้นยังเป็นโฮมออฟฟิศอยู่เลย ซึ่งเขาใช้ห้องโถงของบ้านเป็นออฟฟิศ ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรมากมายอย่างที่เรามีในตอนนี้ ซึ่งมันก็สมเหตุสมผลดีสำหรับบริษัทที่เพิ่งเปิด 

ด้วยความที่ Morphosis เป็นเอเจนซี่ งานที่เข้ามาก็จะเป็นการทำตามโจทย์ที่ลูกค้ามอบหมายมาให้ รายได้ของบริษัทจึงชี้วัดด้วยผลงานที่เสร็จเป็นชิ้นๆ ไป แต่พอทำแบบนี้เรื่อยๆ มันทำให้ผมเกิดความคิดที่ว่า ถ้าอยากสร้างความหมายของการออกแบบโปรดักต์จริงๆ อาจจะต้องไปทำบริษัทที่เป็น in-house แทน ผมก็เลยอยากลองออกไปหาประสบการณ์แบบนั้นบ้าง

ประสบการณ์ลองไปทำงานกับ in-house

จริงๆ แล้วบริษัทแรกที่เข้าไปทำก็เป็นเอเจนซี่เช่นกัน แต่จะมีความเป็น full team มากกว่า Morphosis เพราะที่ใหม่มีทั้ง designer, developer, QA, PM ครบเลย 

ผมจึงได้เพิ่มประสบการณ์แบบก้าวกระโดดกับที่นั่น รู้ว่าต้องทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในทีมอย่างไร และโปรเจกต์ของที่นั่นไม่ได้มีแค่ดีไซน์แล้วจบ บางครั้งก็เป็นโปรเจกต์ระยะยาวที่ทำกันข้ามปี ต้องเข้าใจทั้งข้อมูล โค้ด ดีไซน์ รวมไปถึงโจทย์ของลูกค้าด้วย มีมิติหลากหลายที่ต้องเข้าใจมากขึ้น

หลังจากนั้นก็ย้ายไปบริษัทที่เป็น in-house จริงๆ ซึ่งมีโปรดักต์ของเขาเอง ก็ท้าทายไปอีกแบบ  ความท้าทายจะแตกต่างจากของเอเจนซีที่เน้นให้มีลูกค้าจ้าง ปิดงาน แล้วก็ได้เงิน ยิ่งปิดงานได้หลายงานยิ่งได้เงินเยอะ แต่การทำ in-house ความอยู่รอดของบริษัทจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของโปรดักต์ที่เราสร้างขึ้นมาโดยตรง

จริงๆ แล้วบริษัทแบบ in-house ก็มีหลายรูปแบบ แต่แบบที่ผมไปทำส่วนมากจะเป็น startup ซึ่งมักจะเป็นโปรเจกต์ใหม่ที่มีการทดลองไอเดียธุรกิจบนงบประมาณที่จำกัด จะมีไทม์ไลน์ส่งมอบงานที่ค่อนข้างเร่งรัด ต้องรับมือกับการความคาดหวังของนักลงทุน หรือปล่อย MVP ในระยะเวลาอันสั้นเพื่อช่วงชิงโอกาสในการเปิดตัวธุรกิจให้เป็นที่รู้จักในเวลาที่กำหนด

ปัญหาสำคัญก็คือ บางครั้งผู้บริหารของธุรกิจนั้นๆ อาจจะไม่เข้าใจเรื่องของ UX ไม่รู้ว่ากระบวนการที่จะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีได้นั้นต้องทำอย่างไร บางครั้งฟีเจอร์ต่างๆ ก็มาจากไอเดียของพวกเขาเอง ใช้แค่สัญชาตญาณหรือได้แรงบันดาลใจจากไหนมาก็ไม่รู้ โดยที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ (validate) ให้ดีว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริงๆ หรือเปล่า แล้วจู่ๆ ก็มาแก้ไทม์ไลน์ของโปรเจกต์ให้เป็นไปตามที่ใจนึก 

การที่พวกผู้บริหารหรือนักลงทุนซึ่งมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของโปรดักต์นั้นไม่รู้ว่าผู้ใช้ต้องการอะไรทำให้โปรดักต์นั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจุดขายของโปรดักต์คืออะไร

ผมได้เจอคนมาหลายรูปแบบ บางบริษัท CEO ก็สนใจแต่พวกนักลงทุน เขาจึงต้องการแค่ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิด hype ขึ้นมาเพื่อสร้างกระแส โดยที่ไม่ได้คิดอย่างลึกซึ้งว่าโมเดลธุรกิจนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าดีไซเนอร์โดยส่วนมากนั้นใส่ใจกับผู้ใช้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบางครั้งจะเป็นการที่ผู้บริหารไม่ได้สนใจผู้ใช้ แต่เป็นโฟกัสที่การทำกำไรระยะสั้นแบบฉาบฉวย ที่ทำให้คุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่แท้จริงนั้นบิดเบี้ยว และไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้อย่างที่ควรจะเป็น

บางครั้งในองค์กรขนาดใหญ่ มีการที่ฝ่ายบริหารพยายามยัดเยียดฟีเจอร์เพื่อแย่งกันเอาผลงาน หรือแสวงหาเครดิตให้ตัวเอง สร้างความยุ่งยากโดยที่ไม่ได้ทำให้โปรดักต์ดีขึ้นก็มี แต่ผมเองก็เคยทำงานกับบริษัทที่ผู้บริหารเป็นดีไซเนอร์มาก่อน แบบนั้นผมคิดว่าดีที่สุดที่เคยเจอมา เพราะอย่างน้อยเขาก็มีความเข้าใจผู้ใช้และวิธีการออกแบบที่ดี

UI_02-min

สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนมุมมองในการทำงานของผม

วิธีการรับมือกับเรื่องแบบนี้ก็คงแล้วแต่สถานการณ์ ในฐานะ designer ผมอาจจะไม่ได้มีบทบาทที่สามารถไปโต้แย้งผู้บริหารเหล่านั้นได้ อย่างมากก็ทำได้แค่เสนอแนะไป ส่วนเขาจะฟังหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไรต่อก็เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมแล้ว 

เมื่อพบเจอเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ ผมจึงพัฒนาทักษะในการมองภาพรวมและประเมินความเสี่ยง สามารถคาดการณ์ได้ว่างานชิ้นนี้จะถูกนำไปทำอะไรกันแน่ แผนธุรกิจจริงๆ แล้วคืออะไร ใครจะเป็นลูกค้าของธุรกิจนี้ ผมมักจะนึกถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของโปรดักต์ ก่อนที่ลงมือทำตาม requirement ที่ถูกกำหนด

ซึ่งหลายๆ ครั้งสิ่งที่ผมคาดการณ์ไว้มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ โปรดักต์ที่ทำไปไม่ได้ถูกนำไปใช้จริงหรือถูกเปลี่ยนแนวทางไปจากที่ตั้งใจไว้โดยสิ้นเชิง ในทางธุรกิจอาจจะมองว่าเป็นการ pivot แต่สำหรับผมมองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายหาก designer ทุ่มเททั้งกายและใจลงไปสุดกำลัง ออกแบบงานเป็นร้อยๆ หน้า ทำให้มันเป็น pixel perfect แต่สุดท้ายโปรเจกต์ถูกพับทิ้ง เหมือนลงทุนต่อเรือใหญ่ลำหนึ่งเพื่อที่จะส่งมันไปล่มกลางทะเล แม้ว่าคนจะพูดกันเรื่องของ lessons learned หลังจากที่อะไรไม่เป็นไปดังที่คาด แต่ต้นทุนของการสร้างโปรดักต์ในแต่ละเฟสก็ไม่น้อย

ผมยังคงเชื่อว่ามันจะดีกว่าหากเรามีการทำ discovery ที่ดีเพื่อหา value proposition ของโปรดักต์ ก่อนที่จะลงมือสร้างมัน สิ่งนี้จะช่วยให้เราไม่เสียเวลาและต้นทุนโดยใช่เหตุ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากตลอดการทำงานด้าน UX/UI มา 10 ปี

ตอนผมเพิ่งเริ่มทำงานดีไซน์ ผมเข้าใจว่างานที่ดีคืองานที่สวย ช่วงยังเป็น junior ก็จะเห่อพวกเว็บไซต์โชว์ผลงานดีไซน์อย่าง Dribble ชอบเข้าไปเสพคอนเซปต์ของดีไซเนอร์เก่งๆ ในนั้นเพราะอยากแจ้งเกิดในวงการ แต่จริงๆ แล้วงานพวกนั้นมันก็เป็นแค่คอนเซปต์อยู่ดี

ผมทำงานมาสักพัก ได้เห็นโลกของความเป็นจริงมากขึ้น จากที่เคยมองแต่เรื่องดีไซน์สวยงามและหลักการออกแบบ ก็มองเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของโปรดักต์มากขึ้น เช่น ความเป็นไปได้ในการสร้างโปรดักต์, การทำงานของ developer, เรื่องของธุรกิจ เลยกลับมาพิจารณาว่าสิ่งที่ผมทำลงไปมันกระทบต่อเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

งานดีไซน์ที่ดีไม่ใช่งานที่ทำตาม best practice หรือหลักการเสมอไป แต่เป็นกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกับธุรกิจและตอบโจทย์ความเป็นจริง 

เพราะเมื่อเราพูดถึง best practice จริงๆ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อาจเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาด้วยคนที่ไม่ได้สัมผัสโปรดักต์แบบเดียวกับเราก็ได้ 

งานดีไซน์แต่ละอย่างมีเป้าหมายหรือโจทย์ไม่เหมือนกัน คนที่หลับหูหลับตาทำตามทฤษฎีโดยที่ไม่ได้มองความเป็นจริงตรงหน้าว่าบริบทที่ตัวเองเจออยู่เป็นอย่างไรกำลังตกหลุมพรางขนาดใหญ่อยู่ แล้วมันก็จะไม่ตอบโจทย์อะไรเลยด้วย

คนสำคัญที่ทำคอยให้คำแนะนำผม และทำให้ผมมีวันนี้ก็คือ Jeremie เพราะว่าผมได้เริ่มทำงานนี้ก็เพราะเขา ตอนที่เขาเริ่มตั้ง Morphosis เขาก็สอนผมตลอด สิ่งที่เขาสอนคือเรื่องพื้นฐานการออกแบบ และเขาจะอธิบายได้ชัดเจนว่างานแต่ละชิ้นลูกค้าต้องการอะไร มันทำให้เราเข้าใจเหตุและผลว่าเราทำไปเพื่ออะไร

รวมถึงพวกพี่ๆ ดีไซเนอร์ และ PM ที่เคยร่วมงานด้วยในบริษัทเก่า ด้วยความที่ตอนนั้นผมยังเด็ก พี่ๆ ก็จะคอยสอนในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่อง product development หรือการบริหารจัดการโปรเจกต์ เป็นต้น ทำให้ผมเข้าใจบทบาททีมได้ดีขึ้น หรือแม้แต่พี่ที่เป็น CEO ที่สอนเรื่องการพูด การลงทุน ซึ่งทำให้ผมเข้าใจโลกของธุรกิจมากขึ้น

ยิ่งโตขึ้น ยิ่งมีคนมาสอนน้อยลง เพราะพวกเขาจะคิดว่าเราโตแล้ว เพราะฉะนั้นตอนที่ยังเด็กอยู่ให้พยายามเรียนรู้ คนรอบตัวเราเหล่านี้จะมีความสำคัญมาก และเขาจะยังช่วยเหลือเราอยู่

UI_03-min

สิ่งที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมและแนวทางหาความรู้

สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดในเรื่อง UX ก็คือการหาว่าจุดไหนเป็นจุดแข็งของโปรดักต์ที่จะตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ผมไม่ได้ตั้งใจก็จะไปทางสาย research หรือ UI แบบร้อยเปอร์เซนต์ ผมจะพยายามที่จะอยู่ตรงกลางของทุกๆ อย่าง รวมไปถึงเรื่องธุรกิจด้วย แต่เมื่อสามแกนหลักนี้มาบรรจบกัน มันทำให้ผมเข้าใจได้ว่า จุดแข็งของโปรดักต์คืออะไร และมันจะตอบโจทย์ผู้ใช้ได้อย่างไร ซึ่งสิ่งนี้ก็คือ value proposition นั่นเอง

ตอนนี้ผมเน้นแค่ว่าทำอย่างไรให้ UX ที่สร้างขึ้นตอบโจทย์ผู้ใช้จริงๆ วลี “ตอบโจทย์ผู้ใช้” นี่มันเป็นวลีกว้างๆ และทำได้ยากมากนะ ใครๆ ก็อยากทำได้ คนมักจะพูดว่าต้องไปทำวิจัย ทำ diagram มากมาย แต่ผมคิดว่าจริงๆ หัวใจสำคัญคือการเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนด้วยกัน หรือมี empathy นั่นเอง 

ผมจึงอยากพัฒนาความสามารถในการเข้าใจคนได้ดีขึ้น เข้าใจ insight ของคนให้มากที่สุด ซึ่งมันก็เป็นหัวใจหลักของการออกแบบอยู่แล้ว ทุกทฤษฎี UX research ที่เกิดขึ้นบนโลกมันก็เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้เราเข้าใจคนนี่แหละ 

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ทฤษฎีทุกอย่างเพื่อให้เข้าใจคนนะ บางครั้งคนเราแค่มองตาก็เข้าใจ ยิ่งถ้าเราสนิทกับใครเราก็เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าเป็นคนหมู่มาก เราก็ไปนั่งคุยด้วยทุกคนไม่ได้ ก็ต้องมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

เมื่อก่อนมีพี่คนหนึ่งที่เคยทำงานด้วย เขาเป็น UX Researcher ที่ช่วยเหลือผมในเรื่องการทำวิจัยได้ดีมาก ทีแรกผมก็สงสัยในตัวเขา แต่พอรู้จักกันมากขึ้น ก็พบว่าเขาเป็น truthseeker คือ คนที่มองตามหลักความจริงได้ดีมาก พูดตรงมาก เวลาเขาพูดอะไรมามันแทงใจผมได้ตลอด 

ผมเลยพยายามศึกษาความคิดของเขา เหมือนผมได้เมล็ดพันธุ์เล็กๆ จากเขามา แล้วเอามาปลูกเอง ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เลยนะกว่าที่จะเข้าใจว่าวิธีการคิดและการมองโลกในแบบของเขา

ดังนั้นวิธีที่จะเข้าใจคนได้ดีขึ้นก็คือ ผมต้องฝึกมองให้เห็นความจริงในทุกๆ เรื่อง เพราะโลกใบนี้มันเต็มไปด้วยการย้อมสี บางทีคำพูดของคนหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็ผ่านการย้อมสีมา มันก็ยากที่เราจะมองเห็นความจริงตลอดเวลา แต่ถ้าฝึกมากๆ เข้า สมองก็จะเข้าใจได้มากขึ้นเอง รู้ว่าใครพูดจริงหรือไม่

สิ่งที่อยากเรียนรู้อีกเรื่องคือเรื่อง entrepreneurship หรือการคิดแบบผู้ประกอบการ เพราะในโลกทุนนิยม เราต้องการทำโปรดักต์ออกมาเพื่อให้มันประสบความสำเร็จ มีคนใช้เป็นล้านๆ ถ้าเราทำงานในบริษัทใดเราก็อยากให้บริษัทนั้นเจริญรุ่งเรือง จริงไหม เพราะต่อให้เราทำวิจัยมามากมายแต่ถ้ามันไม่เอามาต่อยอดด้วยโจทย์แบบทุนนิยม มันก็ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้

นอกจากนั้นก็อยากรู้เคล็ดลับบางอย่างในการทำธุรกิจด้วย บางทีมันก็มีเรื่อง money game อะไรพวกนี้ เลยอยากเข้าใจมันให้มากขึ้น เพราะผมไม่อยากถูกมองว่าเป็นแค่หมากตัวหนึ่งบนกระดาน แต่อยากเป็นคนที่ทันเกมธุรกิจ รู้ว่าเขาทำอะไรกัน 

การจะฝึกเรื่องนี้คงต้องไปทำงานกับคนที่อยู่ในฝั่งของธุรกิจมากขึ้น เช่น product owner หรือระดับผู้บริหาร การทำเวิร์กช็อปที่เกี่ยวกับธุรกิจอย่าง value proposition ก็อาจจะช่วยได้ เพราะจะมีดีไซเนอร์มาช่วยหาไอเดียในการถามว่าจุดขายสินค้าคืออะไร

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าผมอยากรู้เรื่องอะไร ผมก็จะต้องไปคลุกคลีกับคนที่ทำงานด้านนั้น หรือเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ

UI_03-1-min

สิ่งที่ได้สอนให้น้องๆ ในทีม

ผมเพิ่งจะมีน้องในทีมให้สอนงานก็ตอนกลับมาทำที่ Morphosis รอบหลังๆ นี่เอง ซึ่งผมจะไม่สอนเรื่องพื้นฐานด้านดีไซน์เพราะน้องเขามีวิธีการหาข้อมูลพวกนี้อยู่แล้ว หลายคนก็มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว แต่จะแนะนำให้เขาหัดตั้งคำถามมากกว่า เช่น งานที่กำลังทำอยู่คืออะไร ทำไปเพื่อตอบโจทย์อะไร ทำไมถึงทำแบบนั้น เป็นต้น เป็นการฝึกให้เขาสร้าง mindset ของการตั้งคำถามและหาจุดประสงค์ในการออกแบบ

นอกจากนั้นก็จะสอนเรื่องการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ให้เขารู้ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ เพราะบางทีน้องก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง เช่น การวางปุ่มต่างๆ ในแต่ละหน้าของโปรดักต์ ผมก็จะถามเขากลับว่า อะไรคือจุดประสงค์หลักของหน้านั้น ผู้ใช้ต้องการทำอะไรก่อน พอคิดได้เป็นขั้นเป็นตอน รู้ว่าเหตุและผลคืออะไร เขาก็จะตัดสินใจได้

เรื่องที่อยากทำในอนาคต

ผมมีเรื่องที่อยากทำมากๆ คือการทำธุรกิจของตัวเอง อยากจะลองสร้างโปรดักต์ขึ้นมาเอง อย่างน้อยๆ ก็อาจจะเป็นแค่ dummy ก็ได้ อยากจะพิสูจน์ว่าที่เรารู้มาทั้งหมดนี้เรารู้จริงหรือยัง ถ้าเก่งจริง แน่จริง ก็ต้องทำได้ เพราะผมไม่ได้ต้องการมีตำแหน่งสูงๆ เป็นแค่คนที่โปรไฟล์ดูดี หรือเก่งแต่พูด แต่ไม่ได้มีผลงานอะไรชัดเจน ผมอยากมีทักษะและความสามารถที่จะทำให้โปรดักต์ประสบความสำเร็จได้

ฝากถึงคนที่เพิ่งก้าวเข้ามาทำงานสาย UX/UI

สำหรับคนที่มาทำงาน UX/UI อาจจะต้องถามตัวเองก่อนว่า อยากจะก้าวไปเป็นอะไรในสายงานนี้ ถ้าอยากทำเรื่อง UI ก็มุ่งไปในทางนั้น เรียนรู้เรื่องของหลักการออกแบบ ดูว่าเทรนด์การออกแบบในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร การใช้งาน Figma อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด วิธีการสร้าง library การทำ design system เป็นต้น 

ถ้าอยากเป็น UX researcher ก็ไปศึกษาเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับทฤษฎีการวิจัย ลองหาโอกาสทำวิจัย ทำ usability test ดู ฝึกวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเยอะๆ แต่ถ้าอยากเป็น UX designer จะอยู่ตรงกลางของทุกๆอย่างและมีประสบการณ์หน่อย เพราะต้องเข้าใจทั้งเรื่องการทำวิจัยและการออกแบบ เด็กจบใหม่จะไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ตรงนี้

คนแต่ละคนจะมีความสนใจหรือให้ความสำคัญที่แตกต่างกัน บางคนให้ความสำคัญกับดีไซน์ บางคนให้ความสนใจกับการวิจัย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ขอให้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ องค์ประกอบต่างๆ ของ UI เช่น ปุ่มต่างๆ ก็มีเหตุผลของมันอยู่ว่าทำไมถึงมีหน้าตาแบบนั้น UX ก็มีเบื้องหลังจากงานวิจัยอยู่ว่าทำไมถึงทำแบบนั้น หากทำไปโดยไม่เข้าใจก็จะสร้างผลงานที่ไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำด้วยความเข้าใจเสมอ

อย่าทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ และถ้าไม่เข้าใจก็ต้องยอมรับให้ได้ อย่าฝืนหรือหลอกตัวเองว่าเข้าใจ

จริงๆ แล้วผมมองว่า ยิ่งเด็กรุ่นใหม่มากเท่าไร ก็ยิ่งมีพื้นฐานความรู้ด้านการออกแบบดีมากเท่านั้น ความรู้บางอย่างก็ก้าวไกลไปกว่าผมมาก อย่างเรื่องการทำ library ผมเองก็ยังทำไม่เป็น ทำ design system เหมือนน้องในทีมทำไม่ได้ เรื่องพวกนี้ผมต้องให้เขาช่วย เด็กรุ่นใหม่ๆ สมัยนี้มีโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายตั้งแต่เรียนจบแล้ว

สมัยผมจบใหม่ๆ ยังไม่มี Figma ให้ใช้เลย Sketch ก็ยังไม่มี ใช้ Photoshop ออกแบบเว็บกัน ต้องเอาไฟล์รูปมาตัดเป็น grid กำหนด resolution ต่างๆเอง แล้ว export เป็น 2x, 3x ทีหลัง

แต่เด็กสมัยนี้มีเครื่องมือมากมายที่ช่วยให้เขาก้าวกระโดดได้เร็วขึ้น สื่อการสอนก็หลากหลายมาก คอร์สต่างๆ ก็ไม่แพง เรียนอาทิตย์เดียวก็เก่ง Figma กว่าผมแล้ว สมัยก่อนแทบไม่มีคนพูดถึง UX/UI เลย ต้องจับพลัดจับผลูไปคว้าโอกาสในต่างประเทศเอา ไปดูงาน ไปนั่งอ่านฝรั่งเขาถกเถียงกันตามเว็บบอร์ดต่างๆ

ปัญหาก็คือ พวกเด็กจบใหม่มักจะอยู่ในช่วงที่สะสมผลงานของตัวเอง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นช่วงที่ไฟแรง ซึ่งบางครั้งก็ต้องการอะไรที่จับต้องได้ ส่วนใหญ่ก็เลยไปเน้นที่ทำงานให้ UI สวยไว้ก่อน ให้ความสำคัญกับเปลือกนอกของงานออกแบบ อาจจะไปดูพวกแอปฯ ดังๆ มาว่าเขาออกแบบอย่างไรแล้วลอกเลียนแบบตามโดยไม่คิดหาเหตุผล

ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นมันเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ก่อนหน้าที่แอพมันจะเป็นแบบนั้นได้มันผ่านอะไรมาเยอะมาก และอาจจะเป็นผู้ใช้คนละกลุ่มกันก็ได้ หรือปุ่มสวยๆ ที่ออกแบบมา developer ของเรา อาจจะพัฒนาให้ไม่ได้ด้วยซ้ำ อาจจะใช้ library คนละตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กที่เข้าวงการใหม่ๆ อาจจะไม่ได้คำนึงถึงว่ามีเรื่องอะไรอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น

บางที resume สมัครงานก็ยังชอบทำมาเป็นปุ่ม เป็นค่าพลังต่างๆ ทำให้กระดาษสมัครงานดูเป็น UI แบบ dashboard แต่อาจจะไม่ได้คิดว่าว่าเอกสารพวกนี้ HR เป็นคนอ่าน ถ้ารูปแบบมันดูยากหรือประหลาด มันก็ยิ่งทำให้เขาปวดหัว ดังนั้นถ้าใครจะมาสมัครงานกับเราก็ฝากเรื่องนี้ไว้ด้วยครับ

ปรัชญาในการทำงาน

ผมชอบวลี “ลับขวานให้คมก่อนที่จะตัด” ถ้าปัจจัยต่างๆ ยังไม่พร้อม ยังไม่มีความชัวร์ ผมจะยังไม่ลงมือ ผมต้องการผลลัพท์ที่ดีที่สุดภายใต้การแผนการที่คิดมาดีแล้ว เพราะผมต้องการฟันไม้แค่ครั้งเดียวแล้วตัดได้เลย ไม่ใช่คนที่รู้ว่าทำไปแล้วมันจะล้มเหลวก็ยังจะทำ ผมต้องประเมินแล้วว่าเรากำลังดำเนินการบนแผนการที่ดีที่สุดแล้ว และมีแผนสำรอง ไม่อย่างนั้นก็จะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

ผมไม่ใช่คนประเภทที่พุ่งชนเป้าหมายแบบไปตายเอาดาบหน้า
หรือใช้พลังใจอันแรงกล้าลงมือทำสิ่งต่างๆโดยปราศจากความเป็นไปได้  การที่เราประเมินสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานของความเป็นจริงก่อนจะลงมือทำอาจจะสร้างความเป็นไปได้มากกว่า ผมจึงให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามในแนวคิดหรือแผนการในภาพใหญ่ว่ามันถูกคิดมาอย่างดีแล้วก่อนที่จะลงแรงสร้าง ให้อย่างน้อยมั่นใจว่าเรากำลังทำสิ่งที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้จริงๆ 

ในหนังสือ Value Proposition Design มีเขียนไว้ว่า "เราจะเรียกสิ่งที่ทำว่าธุรกิจได้ ก็ต่อเมื่อมีผู้ที่จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการของเรา"

UI_profile-min

 

ธนนันท์ จึงเจนชัยนันท์ (ฟลุค) Lead UX/UI Designer ที่ Seven Peaks

 

ธนนันท์ มีประสบการณ์ทำงานในฐานะ UX/UI Designer เกือบ 10 ปี ทั้งในบริษัท agency และ in-house

สนใจในการออกแบบ ปรัชญา เทคโนโลยี ชอบอ่านบทความธุรกิจและจิตวิทยาเพื่อเข้าใจในมนุษย์มากขึ้น