บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

ผมสนุกกับงาน QA เพราะเจอสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง

PIC00032-min-min

ที่มาที่ไปของการทำงาน QA

ทีแรกผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับงาน QA หรอก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่างานนี้ต้องทำอะไรบ้าง

ผมเรียนจบด้านไอทีจาก ม.ราชภัฏจันทรเกษม ตอนแรกๆ ก็เริ่มจากทำงานด้าน software support และเป็น programmer อยู่ใน software house เล็กๆ ก่อน ทีแรกก็รู้สึกว่าเป็น programmer เท่ดี อยากลอง อยากเขียนโปรแกรมเป็นบ้าง

ทีนี้ด้วยความที่เขาอยากให้เราได้ทำหน้าที่หลายๆ อย่าง พอได้ลองหัดทำเกี่ยวกับ QA testing ก็มีรุ่นพี่ที่ออฟฟิศเก่าท่านหนึ่งสอนวิธีการทดสอบ เทคนิคการเขียน test case เบื้องต้น จากนั้นบริษัทนั้นก็ส่งผมไปเป็นเอาต์ซอร์สอยู่ที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง ทำอยู่ที่นั่น 2 ปี ก็เลยได้ประสบการณ์การ QA มาบ้าง

พอทำแล้วรู้สึกว่ามันใช่ ก็เลยอยากหาความรู้เพิ่มเติม ผมจึงออกจากงานแล้วไปเรียนปริญญาโทต่อด้าน IT and management ของ ม.กรุงเทพ อยู่ 2 ปี เพื่อเรียนแบบ 100% เมื่อเรียนจบแล้วก็หันมาสมัครงานสาย QA แล้วทำงานด้านนี้มาจนทุกวันนี้

เหตุผลที่หันมาทำงาน QA

ตอนที่ทำงานเป็น programmer รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เก่งอะไรนัก เวลาเจอปัญหาติดขัดในการทำงานแล้วจะเครียดมาก ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานตลอด ตัดสินใจเองไม่ถูก ไม่มั่นใจ เลยรู้สึกว่าไม่อยากเป็นภาระของใคร ไม่อยากเขียนโปรแกรมแล้ว ไม่รู้ว่าอนาคตควรจะไปในเส้นทางไหน รู้แค่ว่าอยากหาสิ่งที่ชอบหรือเหมาะกับตัวเองมากกว่านี้ จนกระทั่งมาเจองาน QA

เหตุผลข้อแรกที่หันมาทำงานนี้คือ ผมรู้สึกว่าบุคลิกเหมาะกับงานนี้ เพราะเป็นคนที่ใส่ใจรายละเอียดทุกอย่างในการทำงาน เลยสามารถหาข้อผิดพลาดของระบบได้ค่อนข้างดี ทำแล้วไม่ค่อยเครียด รู้สึกสนุกกับงานและมีแรงผลักดันในการทำงานมากกว่า เมื่อได้รับมอบหมายงานมา ก็สามารถหาข้อผิดพลาดของระบบได้ค่อนข้างดี เจ้านายก็พอใจ ทำให้รู้สึกว่ามีกำลังใจด้วย 

เหตุผลข้อที่สองคือ พอเป็น QA แล้วผมสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องถามหรือรอให้ใครมาช่วย รู้สึกมั่นใจและกล้าตัดสินใจมากขึ้น 

เลยคิดว่าถ้าผมไปต่อในสายงานนี้น่าจะดีต่อเส้นทางอาชีพของตัวเองและประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ ผมพอรู้มาบ้างว่าการเป็น QA มีรายได้ที่ดีด้วย จึงมุ่งเป้ามาที่สายงานนี้อย่างเดียวเลย

ความท้าทายของการ QA 

งาน QA เป็นงานที่ท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่าใครจะทำก็ได้

QA มันไม่ใช่แค่หาบั๊กแล้วก็จบ แต่เป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง เพราะเราต้องสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจเราให้ได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นลูกค้า, developer, เจ้านาย, หรือผู้บริหาร เราต้องเข้าใจ requirement ทั้งหมด จึงจะเอามาเขียน test case และ QA ได้ รู้ว่าอันไหนคือ defect หรือว่าบั๊ก และต้องมี soft skill ที่ดีด้วย จึงจะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งยังต้องมีทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เพราะต้องเจอปัญหาที่ไม่คาดคิดหน้างานบ่อยๆ

เทคนิคการ QA มันก็มีตั้งหลายอย่าง วิธีการทดสอบในสมัยก่อนกับสมัยนี้ก็แตกต่างกัน สมัยนี้มีกระบวนการทำงานและเครื่องมืออัตโนมัติหลายอย่างเข้ามาช่วยในการทำงาน มันจึงเป็นงานที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ แล้วก็ควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมด้วย

สิ่งที่ยากที่สุดและใช้เวลาค่อนข้างนานคือ การแปลง requirement ของลูกค้าออกมาเป็น test case เพราะเราต้องรู้ว่าควรจะทดสอบอะไรให้มันเจอบั๊ก และ test case ของเราจะต้องน้อยที่สุดแต่ต้องครอบคลุมที่สุด ผมจึงเรียนรู้จากการเจอ requirement ที่มีเข้ามาไม่ขาดสาย และหัดเขียน test case บ่อยๆ พอเริ่มเคยชินทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น

ซึ่งความท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมชอบ รู้สึกว่ามันน่าสนใจและอยากทำต่อไปเรื่อยๆ

PIC00424-min-min

เรียนรู้จากที่ปรึกษา

ในตอนแรกๆ ผมยังไม่รู้ว่าเทคนิคการ QA ที่ควรจะเป็นนั้นมีกระบวนการทำอย่างไร เพราะผมไม่ได้เริ่มจากการทำงาน QA ตั้งแต่ต้น พอมีคนมอบหมายงานนี้มาให้ทำ เขาก็ไม่รู้ว่าผมทำได้แค่ไหน แม้ว่าผมจะศึกษามาก่อนทำงานนี้แล้วว่า QA คืออะไร มีวิธีการทดสอบอย่างไรบ้าง แต่พอมาอยู่หน้างานจริงกลับพบว่ามีการนำทฤษฎีมาใช้น้อยมาก ก็เลยทำไปตามหน้างาน

ช่วงแรกๆ จึงได้เรียนรู้จาก mentor ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในออฟฟิศเก่าที่เป็น QA เกี่ยวกับวิธีการ QA , ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ test level ต่างๆ, และวิธีการเขียน test case ได้แบบฝึกหัดจากเขามาทำ ก่อนที่เขาจะส่งผมไปเป็นเอาต์ซอร์ส แต่เนื่องจากในตอนนั้นหน้าที่ผมเป็นเพียง test executor โดยคนอื่นจะเขียน test case แล้วผมทดสอบตามเท่านั้น

ช่วงหลังจากเรียนจบปริญญาโท พอมาทำงานเป็น QA อยู่ที่บริษัทหนึ่ง มี director ท่านหนึ่งที่เป็นคนคุมแผนกไอทีทั้งหมดคอยให้คำแนะนำในการทำงานแก่ผม แม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็น QA โดยตรง แต่ก็ช่วยคิด ช่วยระดมสมอง รวมถึงแหล่งความรู้ที่สามารถนำมาใช้กับงาน QA ได้ดีมาก 

นอกจากนั้น ผมก็ไปหาความรู้เองเพิ่มเติมด้วยการเข้าคอร์ส เข้าร่วม tech event ต่างๆ เมื่อรวมๆ กับความรู้และประสบการณ์การทำงานร่วมกับ director ท่านดังกล่าว ผมจึงสามารถเติบโตขึ้นเป็น senior QA ได้ภายในปีเดียวเท่านั้น

จุดผกผัน

ผมเลือกที่จะย้ายไปทำงานที่นอร์เวย์ อยู่ที่นั่นเกือบปี แต่เพราะต้องรอเรียนภาษานานประมาณหนึ่งปี และหางานยาก ด้วยความที่ช่วงนั้นมีผู้อพยพเยอะมากเนื่องจากมีสงครามซีเรีย และในช่วงนั้นเศรษฐกิจของนอร์เวย์ไม่ค่อยดี ผมจึงเบื่อ รอไม่ไหว เลยตัดสินใจกลับมาไทยแล้วก็หางานทำพลางๆ โชคดีได้สัมภาษณ์งานกับคุณ Jostein CEO ของ Seven Peaks แล้วเขารับเข้าทำงาน ก็เลยอยู่ยาว

แต่หากใครจะถามว่าผมเสียใจไหมที่ไม่ได้ไปทำงานที่นอร์เวย์ ผมตอบได้เต็มปากเลยว่าไม่เลย ผมไม่เสียใจในสิ่งใดๆ ก็ตามที่ตัวเองตัดสินใจทำไปแล้ว รู้สึกดีใจด้วยซ้ำที่ได้งานทำต่อเสียที

PIC00551 1-min-min

บทเรียนจากข้อผิดพลาด

ข้อผิดพลาดนั้นมีหลายแบบ อย่างแรกคือข้อผิดพลาดของระบบ มันไม่ใช่ความผิดพลาดของผม ซึ่ง developer อาจจะเป็นคนเขียนมันขึ้นมา แต่ผมเป็นคนหามันเจอ แล้วเราก็ตีกลับไปให้เขาแก้ ซึ่งเขาอาจจะแก้หรือไม่แก้ก็ได้ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลมาคุยกับผมว่าเพราะอะไร แต่ผมจะต้องมีข้อแนะนำว่าควรทำอย่างไร เช่น มันเป็นบั๊กที่ high severity ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจหรือไม่ อย่างไร 

เนื่องจาก QA ที่ดีนั้น เมื่อพบบั๊กจะต้องบอกได้ว่ามีความรุนแรงแค่ไหน low, medium, หรือ high และเสริมด้วยความคิดเห็นว่า

  • ควรจะแก้หรือไม่แก้ แก้ทันทีไหม หรือแก้ทีหลังได้ 
  • ถ้าไม่แก้ จะมีข้อกังวลอะไรบ้าง 
  • ให้ project manager ตัดสินใจว่าจะแก้หรือไม่แก้ 
  • แต่ต้องบอกด้วยว่าทำไมถึงไม่แก้ ถ้าจะแก้ก็รีบส่งมาด่วน

หมายความว่าบางบั๊กไม่จำเป็นต้องแก้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการคุยกันและการประนีประนอม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของลูกค้าด้วย เพราะในมุมมองของผมมันอาจจะ high severity แต่ลูกค้าอาจจะมองว่า low ก็ได้ ก็ต้องมาคุยกัน

ข้อผิดพลาดอีกแบบคือ ข้อผิดพลาดที่อาจจะมาจากตัวผมเองที่อาจจะเกิดจากการทดสอบแล้วไม่เจอบั๊กตัวนี้แล้วมันหลุดขึ้นไปที่ production จนลูกค้าหรือคนอื่นไปเจอ แม้ว่าจะเกิดขึ้นน้อยครั้งแต่ก็มี แน่นอนว่าผมก็จะรู้สึกเสียใจเพราะมันเป็นความบกพร่องในการทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่ความผิดพลาดจากตัวผมก็ได้ แต่มันอาจเกิดจากการ deploy ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่ผมต้องทำต่อไปก็คือ การอธิบายให้ได้ว่าบั๊กตัวนี้มันหลุดขึ้นไปได้อย่างไร และต่อไปจะป้องกันอย่างไรไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

โปรเจกต์แห่งความภาคภูมิใจ

ที่จริงแล้วผมรู้สึกภูมิใจในทุกโปรเจกต์ที่ได้มีส่วนร่วมเพราะแต่ละโปรเจกต์นั้นมีคุณค่าและได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แล้วส่วนใหญ่โปรเจกต์ที่ผมเข้าไปทำจะเป็นธุรกิจที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์ในการ QA มาก่อน ซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีกระบวนการทดสอบที่ไม่เหมือนกันเลย และผมก็ภูมิใจในตัวเองด้วยที่ทำงานในทุกโปรเจกต์อย่างสุดความสามารถ

แต่โปรเจกต์ที่ยากที่สุดตอนที่อยู่กับ Seven Peaks คือโปรเจกต์เว็บไซต์ trade fair แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาก็ยังเป็นลูกค้าของเรามาถึงปัจจุบัน โดยเขาให้เราทดสอบเว็บไซต์ ความยากของมันคือ requirement ของลูกค้านั้นเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของ UI ที่เราไม่เคยทำมาก่อน ทั้งยังมีเวลาจำกัดแค่ 2 อาทิตย์ ทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก

เราวางแผนพลาดตรงที่ให้เวลาในการค้นคว้าข้อมูลน้อยเกินไป ทำให้ข้อมูลยังไม่พร้อม ตอนทดสอบจริงเลยไม่รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร ทำให้ทีมงานต้องทำงานกันดึกดื่น ตอนนั้นเครียดมาก แต่สุดท้ายทุกคนก็ช่วยกันจนโปรเจกต์จบลงได้ด้วยดี ได้ฟีดแบ็กที่ดีมากจากลูกค้า ก็เลยเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ทั้งยากและภูมิใจมาก แม้ว่าจะเหนื่อยหน่อยแต่ก็คุ้มค่า

เราผ่านงานนี้มาได้ด้วยความเป็นทีมเวิร์ก ตอนนั้นมีพี่คนหนึ่งที่เคยเป็น Head of QA ของที่นี่มาช่วยด้วย แม้ว่าจะเครียด แต่เวลามีปัญหาเราก็ให้กำลังใจกันและหาทางออกร่วมกันและผ่านมันไปให้ได้

PIC00163-min-min

มองตัวเองในปัจจุบันและเป้าหมายต่อไป

รู้สึกทึ่งและภูมิใจมากที่มองย้อนกลับไปแล้วพบว่าตัวผมเองมาได้ไกลถึงขนาดนี้เลยเหรอ ได้มาทำงานในบริษัทนานาชาติระดับต้นๆ ของประเทศอย่าง Seven Peaks 

การทำงานยังไงถึงจะควบคุมให้ Software ที่ผ่านมือผมมีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจหลากหลายประเภทในโลกนี้ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน เช่น การทำระบบบริหารจัดการงานอีเวนต์, การเกษตร, ประกันภัย และได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ได้เรียนรู้ไอเดียดีๆ มากมายที่เขาคิดขึ้นมาเพื่อสร้างโปรดักต์และสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ประสบการณ์มากมายที่มีสามารถนำมาให้คำแนะนำแก่น้องๆ ในทีมได้ แล้วผมก็รู้สึกมีความสุข ภูมิใจที่ได้สอน ได้ฝึกฝนใครสักคนให้เก่งขึ้นและเติบโตในหน้าที่การงาน

ณ ตอนนี้ผมยังไม่คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนไปทำอะไรต่อ ยังอยากทำ QA ต่อไปให้สุด ส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับงาน QA ที่ผมยังไม่ได้ทำ ผมอยากจะลองทำให้หมด

ฝากถึงคนที่อยากมาทำ QA

จริงๆ แล้วการเป็น QA แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินความสามารถ สิ่งสำคัญคืออย่าท้อ

ช่วงโควิดที่ผ่านมาจะมีหลายคนที่ลองเปลี่ยนสายงานมาทำตรงนี้ บางคนก็ทำได้ แต่ถ้าอยากจะทำงานนี้จริงๆ จิตใจต้องแน่วแน่ ถ้าใจสู้ก็จะทำได้ และทำเต็มที่ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็จะผ่านไปได้ ไม่ใช่มาทำแค่ชั่วคราว

ซึ่งในมุมมองของคนที่เป็น senior เวลาที่เจอคนใจสู้ เวลาจะป้อนข้อมูลอะไรให้เขามันก็จะง่าย ผลงานของเขาก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

จริงๆ แล้วงานแต่ละงานจะมีคนที่เหมาะสมกับมันอยู่ เหมือนผมที่ได้ไปลองทำงานอย่างอื่น แต่ตอนที่ลองต้องเต็มที่กับมันก่อน ถ้ารู้ว่ามันไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ แล้วก็ไปหาสิ่งที่ใช่สำหรับเราต่อไป

หากคุณสนใจอยากสมัครงานเป็น QA กับเรา สามารถสมัครได้ที่นี่ และอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ได้ที่นี่

A QA team original-profile-resize

สิทธิชัย ประชานันท์, Senior Software QA Engineer ที่ Seven Peaks

คุณสิทธิชัยมีประสบการณ์ทำงาน 13 ปีในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และมีประสบการณ์ทางด้าน QA มา 11 ปี เคยเป็นผ่านการทำงานในด้าน QA lead รวมถึง QA manager มาแล้วในบริษัทที่เคยทำงานมาก่อนหน้านี้