บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

Fintech คืออนาคตของเทคโนโลยีการเงินและการธนาคารแห่งยุคดิจิทัล

ถ้าถามคนทั่วไปว่า fintech คืออะไร หลายคนก็คงไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วสิ่งนี้เป็นอย่างไรกันแน่ แต่ถ้าอธิบายไปว่า fintech นั้นอยู่ใกล้ชิดกับเรามากกว่าที่คิด แค่ในมือถือเครื่องเดียวก็มีแอปพลิเคชันที่ได้ชื่อว่าเป็น fintech จำนวนมากแล้ว แน่นอนว่าเทคโนโลยีการเงินและการธนาคารแห่งยุคดิจิทัลอย่าง fintech ที่พวกเราได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่คุณควรได้รู้ ถ้าพร้อมแล้วไปทำความเข้าใจผ่านบทความนี้ไปพร้อมๆ กัน

Fintech คืออะไร ใช่แอปฯ ธนาคารหรือเปล่า?

Fintech คือการผสมผสานระหว่างคำว่า "financial" (การเงิน) และ "technology" (เทคโนโลยี) ซึ่งหมายถึงการใช้เทคโนโลยีนำมาสร้างสรรค์โปรดักต์ บริการ และโซลูชันทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ และมีชีวิตทางการเงินที่ดีกว่าเดิม 

โดย fintech ในประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาคการเงินการธนาคารดั้งเดิม รวมถึงบรรดาธุรกิจสตาร์ตอัปที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจฟินเทค และแน่นอนทั้งหมดนี้ถูกขับเคลื่อนจากแนวคิดการทำ digital transformation ที่ถือได้ว่าเป็นเทรนด์แห่งยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

หากถามว่า fintech คืออะไรใช่แอปฯ ธนาคารหรือเปล่า ก็ตอบได้ว่าใช่ แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟินเทคที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น และถ้าคุณอยากรู้ว่าตอนนี้เทคโนโลยีการเงินและการธนาคารก้าวหน้าไปจนถึงไหน เราก็อยากจะพาคุณไปทำความเข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของ fintech ให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อน

ประวัติศาสตร์ของ Fintech เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ 

เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจใน fintech เข้าใจถึงเทคโนโลยีทางการเงินและการธนาคารที่มีวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง เราจะขออ้างอิงข้อมูลจากบทวิจัยของ Douglas Arner, Janos Barberis, และ Ross Buckley จาก University of Hong Kong Faculty of Law ในหัวข้อ “THE EVOLUTION OF FINTECH: A NEW POST-CRISIS PARADIGM?” ที่เผยแพร่เมื่อปี 2015 มาอธิบายให้คุณได้เข้าใจง่ายมากขึ้น

  • Fintech 1.0 ยุคแห่งการวางรากฐาน (ปี 1886-1967)

ตั้งแต่ปี 1886-1967 ถือได้ว่าเป็นยุค fintech 1.0 เริ่มจากที่สหรัฐอเมริกาได้วางสายเคเบิลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรก ทำให้เกิดระบบการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีอย่างโทรเลขและรหัสมอร์สเป็นครั้งแรก ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายมาเป็นมาตรฐานสำหรับระบบการเงินการธนาคารของทั้งโลกมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ต่อมาในปี 1950 เป็นครั้งแรกที่คนบนโลกได้รู้จักและใช้งานบัตรเครดิตใบแรกที่ออกโดย Diner’s Club ที่เข้ามาแก้ปัญหาการพกเงินสดจำนวนเพื่อไปใช้จ่ายตามสถานที่ต่างๆ และในปี 1958 ทาง American Express ก็ได้นำเสนอบัตรเครดิตที่ยังมีการใช้งานไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

  • Fintech 2.0 ยุคแห่งการธนาคาร (ปี 1967-2008)

ยุคนี้คือช่วงเวลาสำคัญที่ระบบการเงินการธนาคารได้เปลี่ยนแปลงจากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล โดยเริ่มต้นเมื่อปี 1967 ที่ธนาคาร Barclays ของประเทศอังกฤษ ได้แนะนำให้สาธารณชนรู้จักกับตู้ ATM เครื่องแรก และนี่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของยุคฟินเทค 2.0 

คนที่ทำงานในธนาคารหรือเคยโอนเงินต่างประเทศมาบ้าง คุณคงคุ้นเคยกับคำว่า SWIFT (Society For Worldwide Interbank Financial Telecommunications) ซึ่งนี่เป็นเทคโนโลยีการเงินและการธนาคารที่ถูกคิดค้นเมื่อปี 1973 และมีการใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากเป็นโปรโตคอลการสื่อสารระหว่างสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศนั่นเอง

หลังจากนั้นในระหว่างปี 1980-2018 เป็นช่วงที่ fintech ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ได้แก่ คอมพิวเตอร์เมนเฟรมของธนาคาร ธนาคารออนไลน์, และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของยุค fintech 2.0 คือช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 ที่กระบวนการภายในของธนาคาร, การโต้ตอบกับบุคคลภายนอก และลูกค้ารายย่อยของธนาคาร ได้กลายมาเป็นระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ

  • Fintech 3.0 ยุคแห่งสตาร์ตอัป (ปี 2008-2014)

วิกฤตการณ์ทางการเงินที่แผ่ขยายไปทั่วโลกในปี 2008 ได้เปลี่ยนความคิดของผู้คนที่มีต่อระบบการเงินการธนาคารไปอย่างมาก และนั่นกลายเป็นจุดกำเนิดของ Bitcoin ที่มาพร้อมกับคำว่า cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลางมาคอยควบคุมในปี 2009 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ fintech สามารถเจาะเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ได้กว้างมากขึ้น จากสมาร์ตโฟนที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลาได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนมีติดไว้กับตัวอยู่เสมอ ทำให้เราพบเห็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และบรรดาสตาร์ตอัปด้าน fintech ที่ได้นำเสนอโปรดักต์หรือบริการของพวกเขาผ่านทางแอปฯ มือถือและ web application เช่น Google Wallet ในปี 2011 และ Apple Pay ในปี 2014 ตามลำดับ

  • Fintech 3.5 ยุคโลกาภิวัตน์ (ปี 2014-2017)

ในยุค fintech 3.5 นี้ เปรียบเหมือนกับการแผ่ขยายเทคโนโลยีจากโลกตะวันตกไปสู่ทวีปต่างๆ ก่อให้เกิด digital banking หรือธนาคารดิจิทัลไปทั่วโลก ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินและการธนาคารให้ทันสมัยไปพร้อมกัน 

โดยปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ fintech ในยุคนี้เติบโตเร็วแบบก้าวกระโดด ก็มาจากการที่ผู้คนในประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีน, อินเดีย, และประเทศที่กำลังพัฒนาในกลุ่มอาเซียน สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น สิ่งนี้เองที่ทำให้ธนาคารและสตาร์ตอัปด้านฟินเทคจำนวนมาก ได้สร้างโซลูชันที่เป็นโปรดักต์ทางการเงินใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคได้ใช้อย่างรวดเร็ว

  • Fintech 4.0 ยุคเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (ปี 2018-ปัจจุบัน)

เทคโนโลยีบล็อกเชนได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะผลักดัน fintech ไปสู่อนาคต เนื่องจากสิ่งนี้ได้นำเสนอจุดเด่นที่นอกเหนือจากเรื่องค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนของระบบที่น้อยกว่า อย่างการทำให้ผู้บริโภคมีความไว้วางใจเพิ่มขึ้นจากการได้รับประสบการณ์การใช้งานผ่านระบบดิจิทัลที่เรียบง่ายและคิดค่าธรรมเนียมต่ำหรือไม่มีเลย

Machine learning และ AI เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน เห็นได้จากธนาคาร,ไฟแนนซ์, บริษัทประกันภัย, และสตาร์ตอัปด้าน fintech มากมาย ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์และนำเสนอข้อเสนอ บริการ รวมถึงโปรโมชันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละคน 

MP_Blog_Fintech_03

 

Fintech มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

ถึงเวลาที่จะมาดูว่า fintech มีกี่ประเภท และแต่ละแบบมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเคยมีโอกาสใช้โปรดักต์หรือบริการเหล่านี้มาก่อนแล้วก็ได้

  • Mobile Banking: แอปฯ ธนาคาร

นี่คือเทคโนโลยีการเงินและการธนาคารที่พวกเราใช้กันบ่อยที่สุด ไม่ว่ามือถือของใครก็ล้วนมีแอปฯ ธนาคารที่ใช้เป็นประจำอยู่ไม่น้อยกว่า 2 แอปฯ เพราะในสมัยนี้ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมได้เกือบทุกอย่างเหมือนกับการไปที่สาขาธนาคารแล้ว ตั้งแต่ การโอนเงิน, สมัครบัตรเครดิต, ขอ statement, และอื่นๆ อีกมากมาย 

ในปัจจุบันธนาคารหลายๆ แห่งได้พัฒนาแอปฯ ของพวกเขาขึ้นมาใหม่โดยโฟกัสที่การมอบประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีที่สุดอย่าง แอปฯ ttb touch รวมถึงการนำเสนอฟีเจอร์ของ SCB TechX ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเข้าถึงฟีเจอร์ทางการเงินผ่านแอปฯ ธนาคารที่ใช้งานง่ายยิ่งขึ้น

  • Digital Payment: ชำระเงินแบบดิจิทัล

แอปฯ เป๋าตัง, 2C2P, Truemoney wallet, Omise หรือ Stripe เหล่านี้ล้วนเป็น fintech ที่มีทั้งทำ e-wallet และเป็น payment gateway ซึ่งนำเสนอบริการชำระเงินผ่านทางแพลตฟอร์มของพวกเขา ที่ช่วยให้ผู้ใช้ทั่วไปและรวมถึงบรรดาธุรกิจสามารถโอนเงินและชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

  • Online Lending: กู้ยืมทางออนไลน์

ถ้าเป็นสมัยก่อนเราคงจะรู้ว่าหากอยากกู้ยืมเงินอย่างถูกกฎหมายจะต้องไปที่ธนาคารเท่านั้น แต่ตอนนี้ fintech ประเภท online lending ได้เข้ามาพลิกโฉมการกู้ยืมแบบดั้งเดิมด้วยการนำเสนอบริการให้กู้ยืมเงินทางออนไลน์ โดยพวกเขาจะใช้อัลกอริทึมและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้ขอกู้ รวมถึงให้สินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปและธุรกิจขนาดเล็ก 

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น SoFi แพลตฟอร์มกู้ยืมเงินออนไลน์ที่มีผู้ให้การสนับสนุนมากที่สุดในโลก อันมีมูลค่าสูงถึง 4.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสตาร์ตอัป fintech รายนี้นำเสนอบริการสินเชื่อและอื่นๆ อีกหลากหลาย ตั้งแต่ การรีไฟแนนซ์เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา, รีไฟแนนซ์รถยนต์, การจำนองทรัพย์สิน และบัตรเครดิต เป็นต้น

  • Robo-Advisors: AI แนะนำการลงทุน

ใครอยากลงทุนในหุ้น กองทุนรวม, ทองคำ หรือสินทรัพย์ต่างๆ  คุณอาจเคยเห็นชื่อของ Jitta หรือ AI แนะนำการลงทุนของธนาคารต่างๆ ซึ่ง fintech ชนิดนี้จะใช้ AI กับอัลกอริทึมเพื่อวิเคราะห์พร้อมให้คำแนะนำด้านการลงทุนและจัดการพอร์ตการลงทุนแบบอัตโนมัติ เรียกว่านักลงทุนเพียงแค่เลือกแผนลงทุนที่ต้องการ จากนั้นระบบจะจัดการต่อให้ทุกอย่าง แถมยังมีจุดเด่นที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางการเงินอีกด้วย

  • Crowdfunding: ระดมทุน 

แพลตฟอร์ม crowdfunding คือ fintech รูปแบบหนึ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนรายย่อยรวมถึงธุรกิจขนาดต่างๆ โดยจะมีการเงินทุนเหล่านั้นไปให้ผู้ที่มาขอกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SME, บริษัทสตาร์ตอัป, หรือธุรกิจใดก็ตามที่ต้องการกู้ยืมเงิน นอกจากนี้ รูปแบบในการระดมทุนยังมีถึง 4 รูปแบบ ได้แก่ เพื่อการลงทุน, เพื่อการกู้ยืม, เพื่อให้สิ่งตอบแทน และเพื่อการบริจาค 

โดยในประเทศไทยมี crowdfunding ที่ชื่อว่า Siam Vadilus พวกเขาเปิดระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยที่สนใจอยากจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ SME ในประเทศไทย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้เกิดจากความร่วมกันระหว่างเครือ SCG ของไทยกับ Validus สตาร์ตอัปด้าน fintech สัญชาติสิงคโปร์

  • Blockchain & Cryptocurrencies: บล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล

เทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลถือเป็น fintech ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก เช่น Bitcoin และ Ethereum รวมถึงเหรียญอื่นๆ เนื่องจากบล็อกเชนช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความปลอดภัยและโปร่งใส ในขณะเดียวกันสกุลเงินดิจิทัลก็ยังเป็นอีกทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงบางเหรียญยังมีคุณค่าที่สามารถลงทุนเพื่ออนาคตได้ด้วย

  • Insurtech: เทคโนโลยีด้านการประกันภัย

Fintech ยังได้ขยายขอบเขตการเข้าถึงไปยังอุตสาหกรรมประกันภัยและมีชื่อเรียกสิ่งนี้ว่า insurtech โดยบริษัทประกันต่างๆ เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อปรับปรุงรูปแบบของประกันภัย การเสนอกรมธรรม์ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย และช่วยปรับปรุงการประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำมากขึ้น 

สำหรับในประเทศไทยตอนนี้ก็มี Roojai กับ Sunday ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิเคราะห์ผู้ขอเอาประกันภัย ประเมินเบี้ยประกัน รวมถึงสามารถตรวจสอบสภาพรถก่อนทำประกัน และแจ้งจุดที่เกิดอุบัติเหตุผ่านทางแอปฯ มือถือได้ทันที 

  • Regtech: เทคโนโลยีด้านกฎระเบียบ

เทคโนโลยีด้านกฎระเบียบหรือ Regtech นั้นเป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ายิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงโซลูชันสำหรับการรายงาน, การตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด และขั้นตอนการป้องกันการฟอกเงิน (AML)

  •  Personal Finance Management: จัดการการเงินส่วนบุคคล

    แอปฯ และแพลตฟอร์ม fintech ประเภทนี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือจัดการการเงินส่วนบุคคล ที่ประกอบด้วยฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การจัดทำงบประมาณ การติดตามค่าใช้จ่าย และการวางแผนทางการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้คนมีวินัยทางการเงินและวางแผนเพื่อความมั่นคงในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีแอปฯ ชนิดนี้ให้ได้เลือกใช้กัน เช่น Wallet Story, Metang, Money Diary และอื่นๆ อีกมากมาย

MP_Blog_Fintech_04

 

5 ข้อดีที่ภาคธุรกิจการเงินและผู้บริโภคจะได้รับจากการใช้ fintech

ถึงเวลาแล้วที่เราจะมาไฮไลต์ข้อดีของ fintech ให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยเราจะอธิบายทั้งในมุมของธนาคาร สตาร์ตอัป และบริษัทที่ลงทุนในเทคโนโลยีการเงินและการธนาคาร รวมถึงจากมุมของผู้บริโภคว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการใช้ฟินเทคบ้าง

  • ประหยัดต้นทุนในการดำเนินการ

ด้วยความที่ fintech มาในรูปแบบของแพลตฟอร์มออนไลน์และแอปฯ มือถือ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานและบริหารจัดการของบริษัทผู้ให้บริการโปรดักต์นั้นๆ ต่ำกว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินทั่วไปมาก และส่งผลให้ผู้บริโภคจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ น้อยลงไปพร้อมกัน

  • ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายและขอใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว

จากเดิมที่ผู้บริโภคจะต้องเข้าไปหาธนาคารเพื่อขอใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งเสียทั้งเวลาและโอกาสในการทำสิ่งต่างๆ ที่สำคัญ แต่ด้วยการใช้ fintech ผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงโปรดักต์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ได้จากทุกที่ทุกเวลา ผ่านทางแพลตฟอร์มหรือแอปฯ มือถือ ตัวอย่างเช่น คุณนั่งอยู่ที่บ้านก็สามารถยื่นขอสินเชื่อพร้อมอัปโหลดเอกสาร และรอรับเงินได้ในไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น

  • เพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้มากขึ้น

Fintech มีการนำเอา AI และ machine learning มาวิเคราะห์ข้อมูล นำเสนอโปรดักต์ และมอบคำแนะนำทางการเงินที่ปรับแต่งมาเฉพาะแต่ละบุคคล หรือการ personalization นั่นหมายความว่าผู้ที่เห็นข้อเสนอเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นมากขึ้น

  • มีตัวเลือกที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งทางการเงินมากกว่าเดิม

ปัจจุบันที่ต่างประเทศรวมถึงในไทยเองมี crowdfunding และ robo-advisors ออกมาจากธนาคารรวมถึงสตาร์ตอัป fintech ออกมาอย่างต่อเนื่อง นี่ช่วยเปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่อยากผันตัวมาเป็นนักลงทุนรายย่อย สามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ หุ้นกู้ หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายกว่าเดิมมาก แถมยังมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยลงจากการวิเคราะห์และมอบคำแนะนำโดยเทคโนโลยี AI ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

  • ลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

ในยุคที่มีการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน สถาบันทางการเงินต่างๆ จึงหันมาพึ่งพา fintech ในการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับระบบธนาคาร ข้อมูลลูกค้า และแอปพลิเคชันที่ต้องการความปลอดภัยขั้นสูงสุด ด้วยการนำ AI และ machine learning มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล เพื่อค้นหาช่องโหว่หรือจุดอ่อนในระบบ รวมถึงทำให้การทำธุรกรรมของลูกค้ามีความปลอดภัย

เทรนด์ของ fintech จะเป็นไปอย่างไรในอนาคต

Fintech ยังคงมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ โดยแปรเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา รวมถึงความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยหยุดนิ่งของผู้บริโภค จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้บรรดาสตาร์ตอัปและสถาบันการเงินต่างๆ พยายามมากกว่าเดิมในการพัฒนาเทคโนโลยีการเงินและการธนาคารใหม่ๆ ออกสู่ตลาด

ในอนาคตเราอาจเห็น AI และ machine learning ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น รวมถึงสร้างฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยให้ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าต่อทั้งบริษัทผู้คิดค้นระบบ และผู้บริโภคอย่างพวกเราที่เป็นคนที่ใช้งานโปรดักต์และบริการเหล่านั้น 

ทางฟากฝั่งของบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล เราอาจเห็น DeFi เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานกลุ่มทั่วไป แน่นอนว่าสิ่งนี้ ไม่ได้เข้ามาแทนที่ระบบธนาคารดั้งเดิมแต่อย่างใด ทว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงโปรดักต์ทางการเงินยุคดิจิทัลให้กับลูกค้ากลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ ยังสามารถช่วยให้ธนาคารลดต้นทุนในการดำเนินงาน พร้อมกับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ได้อย่างเต็มที่

ปิดท้ายกันด้วยเทรนด์ ESG investing หรือการลงทุนอย่างยั่งยืน สิ่งนี้คือ​​การลงทุนรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่าง conventional investment และ philanthropy investment ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลตอบแทนทางการเงินให้กับผู้ลงทุน รวมถึงใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของบริษัทที่ได้เข้าไปลงทุนอย่างจริงจัง พร้อมกันนี้ยังเป็นการลงทุนที่มุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนระยะยาวอีกด้วย

MP_Blog_Fintech_02

เปลี่ยนไอเดียทำ fintech ของคุณให้กลายเป็นดิจิทัลโปรดักต์กับเรา

มาถึงตรงนี้คุณคงพอเข้าใจแล้วเหตุใด fintech ถึงได้มีความสำคัญกับพวกเราทุกคนในยุคดิจิทัลมากขนาดนี้ เพราะฟินเทคคือเทคโนโลยีการเงินและการธนาคารที่มีประโยชน์มากมายต่อผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยใครก็ตามที่อยากพัฒนาแพลตฟอร์ม fintech ขึ้นมาใหม่ให้ประสบความสำเร็จ พวกเขาจะต้องเข้าใจว่าผู้บริโภคมีปัญหาอะไร ต้องการอะไร และทำอย่างไรถึงจะช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น 

Seven Peaks และ Morphosis พร้อมช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน, ทำ UX research, ออกแบบ UX/UI, รวมถึงทำการตลาดดิจิทัล เพื่อทำให้ไอเดียของคุณกลายเป็นดิจิทัลโปรเจกต์ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ปรึกษาเราตอนนี้