บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

web application คืออะไร ต่างกันอย่างไรกับเว็บไซต์ทั่วไปในปัจจุบัน

เขียนโดย Seven Peaks - 26 มี.ค. 2025, 3:31:37

คงไม่มีใครไม่รู้จัก "เว็บไซต์" ในยุคดิจิทัลที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ที่พวกเราต่างรู้ดีว่าสิ่งนี้คือหน้าต่างสู่โลกออนไลน์เพื่อใช้ในการค้นหาข้อมูล อ่านข่าวสาร หรือติดต่อสื่อสารกันได้จากทุกที่ทั่วโลก แต่รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังเว็บไซต์ที่เราคุ้นเคยนั้น ยังมี "web application" ซ่อนตัวอยู่จนผู้ใช้ทั่วไปไม่สามารถแยกได้ออก

คุณคงสงสัยแล้วใช่ไหมว่า web application คืออะไร หรือต่างจากเว็บไซต์ทั่วไปที่พวกเราใช้กันอยู่อย่างไร?  บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจโลกของ web application ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตั้งแต่ความหมาย, องค์ประกอบ, ประเภท, และข้อดี-ข้อเสีย ไปจนถึงตัวอย่างการใช้งานจริง เพื่อให้คุณเข้าใจและเห็นภาพ web application ได้อย่างชัดเจน

web application คืออะไร มีเรื่องใดที่น่ารู้เกี่ยวกับเว็บไซต์ชนิดนี้บ้าง

web application คือ โปรแกรมประยุกต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีเว็บ และทำงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ เช่น Google Chrome, Firefox, Safari โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงและใช้งาน web application ได้จากทุกที่ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์ใดก็ได้ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย

ลองนึกภาพว่าเว็บไซต์ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันบางเว็บไซต์ไม่ได้มีไว้แค่แสดงข้อมูลให้อ่านเพียงอย่างเดียว แต่ยังเปิดโอกาสให้เราโต้ตอบหรือใช้งาน ได้หลากหลายรูปแบบตามจุดประสงค์ในการใช้งาน  เช่น  ส่งข้อความ, แชร์รูปภาพ,  ซื้อสินค้า, และจองบริการต่างๆ หรือแม้แต่แก้ไขเอกสารร่วมกันแบบเรียลไทม์ ผ่านทาง Google Docs หรือ Microsoft 365 สิ่งเหล่านี้คือ web application ที่ซ่อนอยู่ในรูปแบบของเว็บไซต์นั่นเอง

web application ต่างกับเว็บไซต์อย่างไร

ถึงแม้ว่า web application  หรือ เว็บไซต์ทั่วไปจะดูคล้ายกันมาก  แต่จริงๆ แล้วเว็บทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันในหลายแง่มุม ให้คุณลองนึกภาพตามว่าเว็บไซต์ก็เหมือนกับหนังสือเล่มหนึ่งที่เราสามารถอ่านข้อมูลต่างๆ ได ในขณะที่ web application จะทำหน้าเหมือนกับหนึ่งในเครื่องมือที่เราใช้งานได้ตามต้องการ โดยเราจะพาคุณไปทำความเข้าใจถึงความแตกต่างผ่านตารางเปรียบเทียบที่อยู่ด้านล่างนี้

คุณสมบัติ

web application

เว็บไซต์

วัตถุประสงค์

เน้นการใช้งานเพื่อทำสิ่งต่างๆ เช่น ส่งอีเมล แก้ไขเอกสาร ซื้อของ หรือ เล่นเกม

เน้นการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร หรือเนื้อหาต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้อ่านหรือรับชม

การโต้ตอบ

ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับเว็บแอปฯ เพื่อทำสิ่งต่างๆ เช่น กรอกแบบฟอร์ม คลิกปุ่ม หรือ ลากวาง object ได้

ผู้ใช้สามารถทำได้แค่การอ่านหรือรับชมเนื้อหาแบบ passive ที่แสดงอยู่บนเว็บไซต์เท่านั้น

ฟังก์ชันการทำงาน

มีฟังก์ชันการทำงานที่ซับซ้อน เช่น ประมวลผลข้อมูล จัดการฐานข้อมูล และสื่อสารแบบเรียลไทม์

มีฟังก์ชันพื้นฐาน เช่น การแสดงเนื้อหา การเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ และเมนูใช้งานต่างๆ

การอัปเดตข้อมูล

ข้อมูลจะมีการอัปเดตเป็นประจำ และมักทำแบบเรียลไทม์

ข้อมูลมักจะไม่ค่อยได้มีการอัปเดตบ่อยนัก

ตัวอย่าง

Gmail, Google Docs, Facebook, Netflix

เว็บไซต์ข่าว, บล็อก, และเว็บไซต์บริษัท

 

web application ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีกี่ประเภท

เราจะพาคุณไปดูว่า web application ในปัจจุบันนั้นมีแบบไหนบ้าง โดยจะเน้นไปที่การแบ่งตามฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีที่เข้าใจง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด พร้อมยกตัวอย่างแอปพลิเคชันยอดนิยมในแต่ละประเภท  เพื่อให้คุณเห็นภาพเว็บแอปพลิเคชันในมุมมองที่กว้างยิ่งขึ้น

1. เว็บแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจ (Business Web Applications)

  • แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ เช่น Shopee, Lazada, Amazon, และ eBay มีจุดเด่นตรงที่มีรายการสินค้าให้เลือกมากมาย, ระบบตะกร้าสินค้า, ระบบชำระเงิน, ระบบจัดการคำสั่งซื้อ และระบบรีวิวสินค้าที่ผู้ซื้อสามารถรีวิวถึงสินค้าที่พวกเขาได้ซื้อไปได้
  • CRM (Customer Relationship Management) สิ่งนี้คือระบบจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดเก็บข้อมูลลูกค้า, ติดตามประวัติการซื้อขาย, และวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ซึ่งเว็บแอปฯ ยอดนิยมในประเภทนี้ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ก็มีเช่น Salesforce, HubSpot เป็นต้น
  • ERP (Enterprise Resource Planning) เป็นระบบบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร เช่น การจัดการสินค้าคงคลัง, ฝ่ายการเงิน, และฝ่ายบุคคล ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเว็บแอปฯ ที่นิยมใช้กันในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ SAP และ Oracle Fusion Cloud ERP

2. เว็บแอปพลิเคชันสำหรับการสื่อสารและสังคมออนไลน์ (Social and Communication Web Applications)

  • สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือแพลตฟอร์มสำหรับสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, และ Twitter ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ใช้กันเป็นประจำทุกวันทุกเวลา ตั้งแต่การเข้าถึงข่าวสารต่างๆ อัปเดตความเป็นไปของเพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก ไปจนถึงฟีเจอร์สำหรับการแชร์เนื้อหา, การส่งข้อความ, และการสร้างกลุ่มไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างกัน
  • ระบบส่งข้อความทันที (Instant Messaging) เป็นหนึ่งในเว็บแอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อความโต้ตอบแบบทันที ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยกัน ส่งรูปภาพหรือไฟล์รูปแบบต่างๆ รวมถึงแชร์ตำแหน่งที่อยู่ในขนาดนั้น และอื่นๆ ได้แบบเรียลไทม์ โดยที่นิยมในปัจจุบันก็จะมี LINE, WhatsApp, และ Telegram เป็นต้น
  • อีเมล (E-mail) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าจัดการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงรายชื่อผู้ติดต่อต่างๆ ได้ผ่านทางเว็บแอปพลิเคชัน เพื่อทำการส่งข้อความ, จัดการอีเมล, และแนบไฟล์ส่งไปยังผู้รับปลายทางได้ในทันที โดยปัจจุบันก็มี Gmail และ Outlook ที่มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก

3. เว็บแอปพลิเคชันสำหรับความบันเทิง (Entertainment Web Applications)

  • แพลตฟอร์มสตรีมมิง (Streaming Platforms) คือแพลตฟอร์มสำหรับการรับชมภาพยนตร์, ซีรีส์, และรายการต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ โดยปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม เช่น Netflix, YouTube, Disney+ และ Prime ที่ล้วนมาพร้อมจุดเด่นคล้ายๆ กัน เช่น คลังเนื้อหาขนาดใหญ่, มีระบบแนะนำเนื้อหาให้เข้ากับความชอบของผู้ชม และวิดีโอความละเอียดสูงระดับ 4K
  • เกมออนไลน์ (Online Games) โดยเฉพาะเกมที่เล่นผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์ เช่น เกมบน Facebook หรือเกมบน HTML5 ที่มีจุดเด่นที่สามารถเล่นเกมได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันให้เปลืองพื้นที่ และยังสามารถใช้งานได้จากหลากหลายอุปกรณ์อีกด้วย
  • แพลตฟอร์มฟังเพลงออนไลน์ (Music Streaming) ที่หลายคนรู้จักอย่าง Spotify, Apple Music, Joox, และ Tidal คือหนึ่งในบรรดา web application ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากอยู่ทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่มีคลังเพลงขนาดใหญ่ให้เลือกฟัง พร้อมด้วยระบบแนะนำเพลงและเพลย์ลิสต์แบบเป็นทางการ รวมถึงที่มีผู้ใช้ด้วยกันจัดทำขึ้นเพื่อแบ่งปันกับผู้ใช้รายอื่นๆ

4. เว็บแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานและการศึกษา (Productivity and Education Web Applications)

  • เครื่องมือสำหรับการทำงาน (Productivity Tools) ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานประจำวัน  ตั้งแต่การทำงานร่วมกันในเอกสารเดียวกันแบบเรียลไทม์ การจัดการงานต่างๆ และข้อมูลที่ถูกแก้ไขทั้งหมดยังถูกจัดเก็บอยู่บนคลาวด์ที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยเว็บแอปฯ ในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ Google Docs, Microsoft Office 365 และ Trello เป็นต้น
  • แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ (E-learning Platforms) ในยุคที่ทุกคนต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถ เว็บแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้ทางออนไลน์จึงได้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ด้วยหลักสูตรที่มีให้เลือกมากมาย พร้อมด้วยชุมชนของเหล่าผู้เรียนที่มีการพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีให้เลือกใช้งานมากมาย เช่น Coursera, edX, และ SkillLane เป็นต้น
  • บริการจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (Online Storage) ด้วยความต้องการในการเข้าถึงและจัดเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมาก online storage ที่ใช้งานผ่านเว็บแอปฯ จึงกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การทำงานและชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ด้วยการเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัย สามารถแชร์ไฟล์ได้อย่างง่ายดาย และเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ จึงทำให้บริการอย่าง Google Drive, Dropbox, และ OneDrive มีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่อง

5. เว็บแอปพลิเคชันอื่นๆ

  • ธนาคารออนไลน์ (Online Banking) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า e-banking เป็นบริการธนาคารออนไลน์ที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปทำธุรกรรมต่างๆ เสมือนไปดำเนินการด้วยตัวเองที่สาขาของธนาคาร เช่น ตรวจสอบยอดเงิน โอนเงิน และชำระบิลต่างๆ รวมถึงดำเนินการขอเอกสารด้านรายรับรายจ่ายได้ โดยยกตัวอย่างเช่น Bualuang iBanking, KKP Biz e-Banking, และ K BIZ เป็นต้น
  • เว็บไซต์จองออนไลน์ (Travel Booking) เว็บแอปพลิเคชันชนิดนี้ใช้สำหรับจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และแพ็กเกจท่องเที่ยว โดยมีจุดเด่นที่ตัวเลือกต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นราคาที่คุ้มค่า มีโปรโมชันหลากหลาย และสามารถจัดการจอง ดูห้องพัก และรายละเอียดต่างๆ ได้ง่ายดายภายในแพลตฟอร์มเดียว ปัจจุบันที่ผู้คนนิยมใช้งานก็จะมี Agoda, Booking.com, Expedia, และ Trip เป็นต้น

องค์ประกอบของ web application ที่คุณควรรู้ไว้มีอะไรบ้าง

เบื้องหน้าของ web application ที่ทุกคนเห็นว่า UI ดูสวยแถมใช้งานได้ง่าย และมี user expericence ที่ดีนั้น จริงๆ แล้วเบื้องหลังเว็บแอปพลิเคชันที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ นั้นเต็มไปด้วยองค์ประกอบสำคัญที่ทำงานประสานกันอย่างลงตัว เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่งที่ประกอบไปด้วยโครงสร้าง ระบบไฟฟ้า และระบบประปา องค์ประกอบเหล่านี้ได้ช่วยให้ web application ทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

โดยทั่วไปแล้ว องค์ประกอบของ  web application สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ดังนี้

1. Frontend (ส่วนติดต่อผู้ใช้)

frontend คือ ส่วนที่ผู้ใช้มองเห็นและมีปฏิสัมพันธ์ด้วยโดยตรง เปรียบเสมือน "หน้าบ้าน" ที่ต้องดูสวยงามน่าเข้าเยี่ยมชม ใช้งานง่าย และดึงดูดใจผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด นั่นหมายความว่า frontend มีหน้าที่รับข้อมูลจากผู้ใช้ แสดงผลข้อมูล และส่งคำสั่งต่างๆ ไปยัง backend เพื่อประมวลผลต่อนั่นเอง

สำหรับเทคโนโลยีที่เหล่า developer นิยมใช้ในการพัฒนา frontend ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย

  • HTML (HyperText Markup Language): เป็นภาษาหลักที่ใช้ในการสร้างโครงสร้างและเนื้อหาของเว็บเพจ เช่น ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ
  • CSS (Cascading Style Sheets): เป็นภาษาที่ใช้ในการตกแต่ง จัดรูปแบบ และกำหนดลักษณะต่างๆ ของเว็บเพจ เช่น สี ขนาดตัวอักษร และพื้นหลังของหน้าเว็บไซต์
  • JavaScript: ภาษาที่ใช้ในการเพิ่มความสามารถในการโต้ตอบ สร้าง animation และควบคุม dynamic content บนเว็บเพจ

ตัวอย่างองค์ประกอบของ frontend ก็ได้แก่ ปุ่ม, เมนู, แบบฟอร์ม, หน้าต่าง popup, และ animation ต่างๆ ที่แสดงอยู่บนเว็บไซต์ทั้งหมด

2. Backend (ส่วนจัดการข้อมูลและตรรกะ)

backend คือ ส่วนที่ทำงานอยู่หลังเบื้องหลังของ frontend ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับ "ห้องเครื่อง" ที่คอยประมวลผลข้อมูล จัดการตรรกะต่างๆ และควบคุมการทำงานของ web application โดย backend จะรับคำสั่งจาก frontend เพื่อดำเนินการประมวลผลข้อมูล ติดต่อกับฐานข้อมูล และส่งผลลัพธ์กลับไปยัง frontend

สำหรับเทคโนโลยีที่บรรดานักพัฒนาใช้พัฒนา backend จะประกอบไปด้วย

  • ภาษาโปรแกรม: เช่น Python, Java, PHP, Ruby ถูกใช้ในการเขียนโค้ดเพื่อประมวลผลข้อมูล และควบคุมการทำงานของแอปพลิเคชัน
  • Framework: ชุดเครื่องมือและไลบรารีที่ช่วยในการพัฒนา Backend เช่น Django (Python), Spring (Java), Laravel (PHP), Ruby on Rails (Ruby)
  • API (Application Programming Interface): ชุดคำสั่ง ฟังก์ชัน และโปรโตคอล ที่ช่วยให้ Frontend และ Backend สามารถสื่อสารกันได้

3. Database (ฐานข้อมูล)

database หรือระบบการจัดเก็บข้อมูล เปรียบเสมือน "คลังสินค้า" ที่เป็นสถานที่เก็บข้อมูลต่างๆ ของ web application เช่น ข้อมูลผู้ใช้, ข้อมูลสินค้า, ข้อมูลการสั่งซื้อ, และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นั่นทำให้ฐานข้อมูลมีบทบาทสำคัญในการจัดเก็บ เรียกใช้ และจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถนำข้อมูลต่างๆ ไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาบริการให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับประเภทของฐานข้อมูลที่นิยมใช้ในเว็บแอปพลิเคชันจะมีดังนี้

  • Relational Database: เช่น MySQL, PostgreSQL, และ Oracle Database จัดเก็บข้อมูลในรูปแบบตาราง มีความสัมพันธ์กัน
  • NoSQL Database: เช่น MongoDB, Cassandra จัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่ยืดหยุ่น เหมาะสำหรับข้อมูลขนาดใหญ่ และข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างตายตัว

กล่าวได้ว่าองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ได้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ web application สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยมี frontend เป็นหน้าบ้านที่คอยรับข้อมูลจากผู้ใช้ แล้วส่งคำสั่งไปให้กับ backend เพื่อประมวลผลต่อ จากนั้น backend จะทำการติดต่อกับ database เพื่อจัดการข้อมูลต่างๆ และส่งผลลัพธ์กลับไปแสดงผลที่ frontend ซึ่งวงจรการทำงานนี้จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีการใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน

 

ข้อดีของ web application ที่ทำให้ผู้คนหันใช้งานมีอะไรบ้าง

เพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่าเพราะอะไร ทำไม web application ถึงกลายเป็นคำตอบของโลกอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบัน ถ้าพร้อมแล้วเราจะพาคุณไปดูข้อดีของเว็บแอปพลิเคชันให้เข้าใจมากขึ้น

  • เข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์: ไม่ว่าคุณจะใช้งานคอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, หรือสมาร์ตโฟนระบบปฏิบัติการใดก็ตาม เพียงแค่คุณมีเว็บเบราว์เซอร์และเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้ทันที
  • ไม่จำต้องติดตั้งให้ยุ่งยาก: ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมลงบนอุปกรณ์ของคุณ นั่นคือเหตุผลว่าทำไม web application ถึงช่วยประหยัดพื้นที่และลดความยุ่งยากในการจัดการได้ดี
  • อัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์: ข้อมูลบนเว็บแอปพลิเคชันจะมีการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันโดยไม่ต้องไปกดอัปเดตโปรแกรมหรือแอปฯ ด้วยตนเองแต่อย่างใด
  • ใช้งานได้ง่าย: เว็บแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาให้มีอินเทอร์เฟซ (UI) ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะกับผู้ใช้ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มใช้หรือมือโปรที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว

ข้อเสียของ web application ที่ควรรู้ก่อนใช้งานมีอะไรบ้าง

แม้ว่า web application จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังมีข้อจำกัดและข้อเสียอยู่บ้าง  ซึ่งคุณควรทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจใช้งาน เพื่อที่สามารถเลือกใช้เว็บแอปพลิเคชันได้อย่างเหมาะสม

  • เสี่ยงจากการโจรกรรมข้อมูล: การจัดเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ อาจมีความเสี่ยงจากการโจรกรรมข้อมูล หากระบบรักษาความปลอดภัยของเว็บแอปฯ นั้นไม่ดีมากพอ โดยผู้ไม่หวังดีอาจเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลสำคัญของผู้ใช้ เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลทางการเงิน
  • ประสิทธิภาพการทำงาน: ปัจจัยอย่างความเร็วอินเทอร์เน็ต ประสิทธิภาพของเซิร์ฟเวอร์ และ ประสิทธิภาพของเบราว์เซอร์ อาจทำให้ web application ทำงานช้า หรือ ไม่เสถียร ในบางครั้ง
  • ปัญหาความเข้ากันได้: ปกติแล้ว web application จะแสดงผลหรือทำงานแตกต่างกัน ไปตามแต่ละเบราว์เซอร์ เนื่องจากเบราว์เซอร์แต่ละตัวมีการ render และ interpret โค้ดที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในการแสดงผลหรือการใช้งานขึ้นได้ในบางเบราว์เซอร์

พัฒนา web application ที่ตอบโจทย์การใช้งานและตรงกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ

ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า web application ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานของพวกเราอย่างมาก ไม่เพียงเท่านี้ ในอนาคตเว็บแอปพลิเคชันจะยังคงมีบทบาทสำคัญมากขึ้นรวมถึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ และขับเคลื่อนโลกให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ในวันเร็วนี้เราอาจได้เห็นเทรนด์ของการพัฒนา web application ให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI, blockchain, IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นให้กับผู้ใช้งาน รวมถึงถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย สะดวก และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างตรงจุด ตลอดจนระบบรักษาความปลอดภัยที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลและภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เป็นภัยร้ายที่ทำให้หลายคนเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

หากธุรกิจของคุณต้องการสร้างสรรค์ web application เพื่อตอบสนองแผนธุรกิจที่จะช่วยพลิกโฉมองค์กรให้ก้าวหน้าและมีกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น Seven Peaks เรายินดีที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องดิจิทัลโปรดักต์ การพัฒนาแอปพลิเคชัน การทำ data analytics รวมถึงการตลาดดิจิทัลในส่วนของการทำ SEO และอื่นๆ ที่จะช่วยให้คุณได้เว็บแอปพลิเคชันที่ดีและมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดให้กับลูกค้าของคุณ ปรึกษาเราตอนนี้