ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา cross platform application หรือก็คือการพัฒนาแอปพลิเคชันข้ามแพลตฟอร์ม เป็นเทรนด์ที่โดดเด่นอย่างมากในอุตสาหกรรมแอปฯ ด้วยการสร้างแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานได้หลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น iOS, Android และเว็บไซต์ ซึ่งการที่ developer สามารถสร้างแอปฯ สำหรับหลายแพลตฟอร์มด้วยการใช้โค้ดชุดเดียว จึงทำให้การพัฒนา cross platform application ได้เปรียบในเรื่องของงบลงทุนและเวลาที่ใช้พัฒนาอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่การพัฒนาแอปพลิเคชันในปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบหลักๆ คือ Native กับ cross platform โดยมี Google และ Facebook เป็นสองหัวเรือใหญ่ที่คอยออกเครื่องมือพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ สู่ตลาด และยังรวมถึงบริษัทด้านการพัฒนาแอปพลิเคชันชั้นนำอื่นๆ อย่าง JetBrains และอีกมากมาย
เราจึงอยากที่จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจว่า cross platform application คืออะไร และแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสีย รวมถึงทำไมถึงเป็นเทรนด์ที่ developer ทุกคนควรที่จะสนใจและศึกษาว่าสามารถช่วยให้การทำโปรเจกต์พัฒนา digital product นั้นรวดเร็วและคุ้มกับต้นทุนได้อย่างไร
Cross platform application คือแอปพลิเคชัน, โปรแกรม, หรือซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานบนระบบปฏิบัติการหรือแพลตฟอร์มหลายระบบ เช่น ระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกัน (เช่น Windows, macOS, Linux) หรือมือถือต่างๆ (เช่น iOS, Android) โดยแอปฯ ชนิดนี้ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานบนอุปกรณ์และระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือสร้างแอปฯ สำหรับแต่ละแพลตฟอร์มขึ้นมาต่างหากแต่อย่างใด
โดย developer มักจะใช้เทคโนโลยี เช่น เฟรมเวิร์กแบบ cross-platform หรือเครื่องมือเพื่อสร้างแอปพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งช่วยให้พวกเขาเขียนโค้ดเพียงครั้งเดียวและสามารถปรับใช้ได้กับหลายแพลตฟอร์ม วิธีการนี้ช่วยให้ผู้ที่จะทำ digital product ประหยัดเวลาและทรัพยากรได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการพัฒนาแอปพลิเคชันเฉพาะสำหรับแต่ละแพลตฟอร์ม ทำให้แอปพลิเคชันข้ามแพลตฟอร์มเป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าสำหรับการเข้าถึงผู้ใช้ในวงกว้าง
ปัจจุบันนั้นมีเครื่องมือและเฟรมเวิร์กมากมายสำหรับการเขียนและสร้าง cross platform application เครื่องมือเหล่านี้แตกต่างกันไปในแง่ของภาษาการเขียนโปรแกรมที่รองรับ โดยเหล่านี้เป็นเครื่องมือและเฟรมเวิร์กการพัฒนาข้ามแบบ cross platform ที่ได้รับความนิยมจากบรรดา developer ดังนี้
React Native เป็นเฟรมเวิร์ก JavaScript แบบ open source ยอดนิยมที่ใช้เพื่อสร้างแอปพลิเคชันมือถือแบบ cross-platform สำหรับ iOS และ Android และแน่นอนว่าเฟรมเวิร์กนี้ถูกพัฒนาโดย Facebook และเปิดตัวสู่วงการพัฒนาแอปฯ เมื่อปี 2015 เป็นครั้งแรก
ในปี 2015 Google ได้เปิดตัว Flutter ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ open source ที่ใช้สร้าง UI บนแอปพลิเคชันมือถือขึ้นมา นั่นทำให้ developer สามารถสร้าง cross-platform application ด้วยโค้ดเพียงชุดเดียว และยังนำไปปรับใช้กับแอปฯ มือถือ, เว็บไซต์, และซอฟต์แวร์บนเดสก์ท็อปได้ในครั้งเดียวอีกด้วย และจุดที่ทำให้ Flutter ได้รับความนิยมอย่างมากก็มาจากความสามารถในการทำให้แอปฯ ออกมาสวยงามและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการใช้งานได้ดีเหมือนกันในทุกแพลตฟอร์ม
.NET Multi-platform App UI (MAUI) อ่านว่า “เมาอิ” เป็นเฟรมเวิร์กสำหรับการสร้าง cross platform application แบบ native โดยใช้ .NET ecosystem อันเป็นวิวัฒนาการของเฟรมเวิร์ก Xamarin.Forms และเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม .NET 6 ที่ใหญ่กว่า โดย MAUI ช่วยให้ developer ลงมือสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถทำงานได้บนหลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Windows, Android, iOS, macOS และอีกมากมาย ด้วยการใช้โค้ดเพียงชุดเดียวเท่านั้น
Kotlin Multiplatform หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Kotlin Multiplatform Mobile (KMM) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย JetBrains ผู้สร้างภาษาการเขียนโปรแกรม Kotlin ที่ช่วยให้ developer สามารถเขียนโค้ดที่ใช้ร่วมกันได้กับหลายแพลตฟอร์ม เช่น Android, iOS, เว็บไซต์ และแม้แต่แอปพลิเคชันฝั่งเซิร์ฟเวอร์ โดยการใช้ Kotlin