แชร์เรื่องนี้
ใครจะไปคิดว่าเป็น iOS developer แล้วจะสนุกขนาดนี้
โดย Seven Peaks เมื่อ 26 ต.ค. 2023, 18:03:55
เป็นโปรแกรมเมอร์สนุกกว่าที่ใครหลายคนคิดนะ สำหรับผมมันสนุกจนหยุดไม่ได้เลย
เพราะมีใจรักด้านศิลปะ ผมจึงเติบโตมากับการเรียนทางด้านนี้ ต่อด้วยทำงานเกี่ยวกับ 3D visual effect อยู่ใน production house โดยทำพวก rigging และการเขียนสคริปต์เพื่อเรนเดอร์แสง อะไรทำนองนั้น เรียกว่าผสมกันทั้งงานวาดภาพ ทำ CG และเขียนโปรแกรม แต่มาหลงใหลการเขียนโปรแกรมเอาทีหลัง
จุดเริ่มต้นของการเขียนโปรแกรมมาจากตอนเรียนปีสุดท้ายที่ ม.ศิลปากร มีอาจารย์ท่านหนึ่งเขาสอนเกี่ยวกับการสร้างโปรแกรมบน iOS แล้วเขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับ iOS พอได้อ่านก็เลยสนใจ แต่ก็ยังไม่ได้ลงลึกอะไร หลังเรียนจบเลยทำงาน visual effect มาเรื่อยๆ
จนเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นน่าจะเป็น iOS 8 มันก็เริ่มมีฟังก์ชัน interactive ที่โต้ตอบกับผู้ใช้ได้มากขึ้น ผมเลยลองนึกเทียบเคียงกันว่า การเขียนสคริปต์ทำ visual effect มันโต้ตอบกับคนไม่ได้ ในขณะที่แอปพลิเคชันมันสามารถทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ก็เลยหันมาศึกษา iOS อย่างจริงจัง
เส้นทางทำงานเกี่ยวกับ iOS
พอได้เป็น developer แล้วผมรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่อีกโลกหนึ่งเลย เพราะการเป็น developer ทำให้ผมได้เจอคนเก่งๆ จากหลากหลายสายงานมาก มีคนหลายประเภท ต่างจากตอนทำงาน visual effect ที่เราอยู่แต่กับคนที่มีความเป็นศิลปิน เป็นดีไซเนอร์เหมือนๆ กับเรา จริงๆ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทิ้ง visual effect ไปนะ ยังทำเป็นงานอดิเรกสนุกๆ บ้าง
ผมได้ทำงาน iOS developer ครั้งแรกเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน โดยทำงานอยู่ในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ผลิตโมดูลซอฟต์แวร์ ตอนที่เริ่มเขียนโปรแกรมใหม่ๆ รู้สึกว่าทุกอย่างมันยากไปหมด แต่พอผ่านไปสักหนึ่งปี อะไรๆ ก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง เคยชินกับโปรแกรมมากขึ้น วางแผนงานได้ดีขึ้น
สิ่งเหล่านี้ต่างจากงานกราฟิกที่เคยทำ ต่อมาก็ไปทำงานอยู่ในธนาคาร เป็นสัญญาจ้างรายปีในโปรเจกต์ระยะสั้น แล้วก็มาทำงานที่ Seven Peaks ได้ประมาณปีกว่าๆ แล้ว
มุมมองต่อ iOS
ผมรู้สึกว่า iOS เป็นแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัยสูงและเป็นระบบปิด ซึ่งก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง
ช่วงหลังๆ รู้สึกว่า iOS เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก มีแนวโน้มที่สดใส โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากทาง Apple เขาพยายามสร้างสิ่งที่ชดเชยช่องว่างของผู้พัฒนาไลบรารีจาก third party ไปได้เยอะ ทำให้มีการพึ่งพา dependency น้อยลง ช่วยลดปัญหาเวลา import เข้ามาในโปรเจกต์แล้วพังได้ ทำให้ต้องเขียนใหม่หมดเลย ในอนาคต third party พวกนี้อาจจะหายไปก็ได้
อีกอย่างคือ iOS มีตลาดของแอปพลิเคชันที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งผู้ใช้ยินดีที่จะซื้อแอปฯ เหล่านี้ และในอนาคตหาก iOS กับ OSX มารวมกัน ตลาดแอปพลิเคชันน่าจะพัฒนายิ่งไปอีก พวกแอปฯ เล็กๆ ที่นักพัฒนาอิสระทำกันอาจจะมีความต้องการในฝั่งเดสก์ท็อปก็ได้ กลายเป็นตลาดใหม่ขึ้นมา
แรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผมในฐานะ iOS developer คือต้องมีศรัทธาใน Apple ครับ (ฮ่าๆ) ซึ่งผมก็ถือว่าตัวเองเป็น Apple zealot คนหนึ่ง และศรัทธานี้ก็จะทำให้เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อติดตามความมหัศจรรย์ของ Apple ต่อไป
อุปสรรคครั้งใหญ่
เทคโนโลยีบางอย่างมันยังใหม่มากจนเราตามไม่ทัน เคยเจอโปรเจกต์หนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกือบทุกตัวที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน มีเพื่อนในทีมบางคนที่เขาพอมีความรู้อยู่ก็สามารถให้คำแนะนำได้บ้าง แต่ก็ถือว่าใหม่สำหรับคนส่วนใหญ่ เลยต้องมานั่งเรียนรู้กันใหม่ตั้งแต่ศูนย์ และการใช้เทคโนโลยีที่ใหม่มักจะมาพร้อมปัญหา บางตัวยังเป็น beta อยู่เลย
ผมเลยต้องผลักดันตัวเองให้ทำตรงนั้นให้ได้ วิธีที่จะทำให้ได้ก็มีทางเดียวคือต้องขยันศึกษา เข้าคอร์สในเวลาว่างช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ลองเขียนโค้ดดู เปรียบเทียบว่าโค้ดแต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร แล้วตามให้ทัน
ต้องยอมรับว่าบางทีก็เหนื่อยเหมือนกันที่ต้องตามเทคโนโลยีใหม่ๆ และต้องคอยแก้ปัญหาเพราะมันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทำให้มันมีบั๊กที่เราไม่รู้วิธีแก้ ซึ่งต้องใช้ทักษะในการเจรจากับทีมเพื่อลองปรับลดเทคโนโลยีบางอย่างให้โปรเจกต์มันกลับไปอยู่ในจุดที่มั่นคงปลอดภัยขึ้น เพื่อตัดปัญหาแล้วไปต่อได้ ก็เลยให้เขานำไปปรึกษากับลูกค้า
ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์ไม่ควรรีบกระโดดไปใช้เทคโนโลยีที่ใหม่เกินไป ไม่อย่างนั้นอาจต้องเสียเวลาไปนั่งรื้อโค้ดใหม่
บางครั้งเราอาจต้องยอมใช้เครื่องมือรุ่นที่เก่ากว่านิดหน่อย แต่ทำงานได้เสถียร มีโครงสร้างที่สมบูรณ์ ไม่มีบั๊ก สามารถแก้ปัญหาได้จากการสอบถามคนอื่นๆ บนโลกที่เขาเคยเจอมาก่อนเรา ซึ่งจะทำให้โปรเจกต์มีปัญหาน้อยลง
ความรู้สึกเกี่ยวกับ Seven Peaks
ข้อแรกเลยคือ ผมชอบทำงานในบริษัทที่มีคนต่างชาติเยอะๆ เพราะจะได้เห็นคนที่มีความหลากหลายมาทำงานด้วยกัน ตรงนี้ผมว่ามันสนุกมาก
ที่นี่มีหลายอย่างที่เกินความคาดหมายไว้ เพราะทีแรกผมคิดว่าอาจจะมีชาวต่างชาติมาจาก 1-2 ประเทศ แต่กลายเป็นว่าได้พบกับชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ เยอะมาก ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน ในทีม iOS ตอนนี้ก็มีคนประมาณ 15 คนได้ มีทั้งคนรัสเซีย ปากีสถาน อินเดีย เมียนมา เป็นต้น
แม้การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษระหว่างคนในทีมบางครั้งอาจจะติดขัดบ้าง เพราะไม่มีใครถนัดในระดับเจ้าของภาษา แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ผมมองว่าโอกาสได้ทำงานกับคนต่างชาติจากหลากหลายประเทศจำนวนมากแบบนี้หายากมาก ไม่ว่าจะไปทำงานในองค์กรระดับมหาชน หรือไปต่างประเทศก็ตาม และเป็นประสบการณ์ที่มีค่า
การอยู่ร่วมกับคนหลากหลายเชื้อชาติทำให้มีความเป็นกลางมากขึ้นและมองภาพกว้างขึ้น เพราะเรามักจะอคติว่าการทำงานแบบนั้นแบบนี้ไม่ดี แต่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่เมื่อได้คุยกับเพื่อนร่วมทีม
รวมถึงรูปแบบการทำงานร่วมกันข้ามแผนกก็มีประสิทธิภาพดี ซึ่งมีผลมากต่อการเรียนรู้ ถ้าเป็นบริษัทอื่นบางที่เวลาทำงานมักจะแยกแผนกกันไป วันๆ ก็ทำแต่เรื่องเดิมๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ
ที่นี่บางคนอาจจะเคยเป็น backend developer มาก่อน หรือ full-stack developer มาก่อน เคยทำเว็บไซต์มาก่อนแล้วค่อยมาทำ iOS บางคนอาจจะมีพื้นฐานวิทยาการคอมพิวเตอร์ เขาก็จะเก่งเรื่องของ functional programming หรือบางคนชอบ OOP(object-oriented programming) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับ senior กันทั้งนั้น แต่ทุกคนไม่มีใครคิดว่าตัวเองเก่งเลยทั้งๆ ที่พวกเขาเก่งมาก
เมื่อแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในต่างมิติกัน ทำให้บางครั้งเราได้เห็นมุมมองการแก้ปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน รู้สึกเหมือนได้กลับไปเรียนมหาวิทยาลัยใหม่อีกครั้ง
สิ่งที่เป็นแรงผลักดันตอนนี้คือ ทางบริษัทเขามีการแนะนำเส้นทางอาชีพให้ แล้วก็มีการให้ไปเข้าคอร์สต่างๆ ซึ่งตอนนี้เขาก็ให้ไปสอบ Azure Database certification อยู่ ซึ่งแสดงถึงความคาดหวังของบริษัทว่าคนของเขาจะอัปเกรดตัวเองให้เก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ
ช่วงไหนที่ว่างเว้นจากโปรเจกต์ลูกค้า ผมก็เอาเวลาว่างไปเรียนเรื่อง machine learning ซึ่งบริษัทก็โอเค แล้วผมก็นำความรู้ที่ได้มานำเสนอให้เพื่อนๆ ในทีมดูแล้วก็แบ่งปันความรู้กัน
เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่ดี เพราะถ้าผมทำงานที่อื่น ผมก็คงทำแต่เรื่อง iOS ตลอดเวลา ไม่น่าจะมีโอกาสได้มาศึกษา machine learning ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญที่ผู้คนยุคนี้ให้ความสนใจกันมาก
โปรเจกต์ที่ภูมิใจ
โปรเจกต์ที่ผมภูมิใจที่สุดคือการอัลกอริทึมของฟิลเตอร์หน้าเนียน เพราะสมัยก่อนเซนเซอร์กล้องมือถือไม่ได้ฉลาดมากขนาดนี้ โดยใช้ภาษา Swift แต่มีภาษา C ทับลงไปด้วย ยากมาก ทำคนเดียวด้วย เรียกว่าต้องทำความเข้าใจข้อมูลทุกส่วนที่กล้องมือถือส่งมาให้เรา ซึ่งตอนแรกผมไม่มีความรู้ด้านนี้เลย เริ่มจากศูนย์ ต้องแปลงความคิดด้านกราฟิกที่มีให้กลายเป็นโค้ดให้ได้ แต่ก็ผ่านมาได้
อีกโปรเจกต์ผมขอเรียกว่า “โปรเจกต์กู้โลก” มาจากตอนที่รัฐบาลเขาประกาศนโยบายว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ก็เลยมีการทำงานพัฒนาแอปพลิเคชันแบบโต้รุ่งในธนาคารแห่งหนึ่งขึ้นเพราะมีเวลาทำงานแค่อาทิตย์เดียว ผมเลยต้องโต้รุ่งอยู่หลายคืนเลยครับ แทบไม่ได้นอนเลยจนโปรเจกต์จบ ไม่น่าเชื่อว่าตัวเองจะทำได้
ทักษะสำคัญที่คนทำงาน iOS developer ควรมี
ถ้ามีพื้นฐานด้านดีไซน์มาก่อน โดยเฉพาะ UX/UI จะช่วยได้มาก iOS มันจะมีพื้นฐานการออกแบบ UX มาจาก Apple อยู่แล้ว ซึ่งหากคุณเข้าใจในส่วนนี้ได้อย่างรวดเร็ว สามารถตีโจทย์ได้ออกว่า UX/UI ของโปรดักต์ควรเป็นอย่างไร ช่วยลดเวลาในการติดต่อประสานงานกับ UX/UI designer ได้มาก
แม้ว่าดีไซเนอร์ที่มีความรู้แบบครบวงจรเขาจะสามารถออกแบบ UX/UI สำหรับทั้ง iOS และ Android ได้ แต่เท่าที่ผมเจอมา designer ในตลาดบ้านเราส่วนใหญ่ รวมถึงชาวต่างชาติหลายคน เขามักจะออกแบบ UX/UI สำหรับแอปพลิเคชันของ Android เป็นหลัก เพราะมีความเชี่ยวชาญแค่แพลตฟอร์มเดียว บางครั้งเราจึงต้องนำดีไซน์เหล่านี้มาปรับให้เข้ากับ iOS เอาเอง และรู้ว่ามีข้อจำกัดของ iOS อยู่ในส่วนไหนบ้าง ไม่อย่างนั้นมันจะผิดหลักโฟลว์การออกแบบของ Apple ซึ่งอาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นไปอยู่บน App Store ก็ได้
โชคดีที่หลายๆ โปรเจกต์พอทำได้เนื่องจากผมมีพื้นฐานกราฟิกมา ผมก็สามารถสร้าง custom UI จาก requirement ได้เร็ว สามารถนึกรูปร่างในหัว หาค่าสีที่เหมาะสมได้ โดยที่ไม่ต้องไปดูแบบ จึงสามารถแก้ปัญหาด้านดีไซน์ได้ด้วยตัวเอง
ฝากถึงคนที่เป็นดีไซเนอร์แต่อยากเปลี่ยนมาเป็น iOS developer ว่าไม่ต้องกลัว เดี๋ยวนี้มี SwiftUI ให้ใช้ออกแบบ UX/UI ซึ่งเขียนโค้ดสั้นมาก คนที่เพิ่งหัดเขียนโค้ดไม่นานก็สามารถสร้างแอปพลิเคชันที่สวยงามได้ สามารถสร้าง UI ที่ซับซ้อนมากๆ ได้ แถมไม่มีบั๊กด้วย แตกต่างจากสมัยก่อนเวลาผมจะทำแอนิเมชันที่ซับซ้อนต้องเขียนโค้ดเยอะมาก ผมเชื่อว่าดีไซเนอร์จะสนุกกับ SwiftUI มีความสุขในการเขียนโค้ด และเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างโปรดักต์บน iOS แล้วค่อยไปเรียนรู้เรื่องการเชื่อมต่อกับระบบอื่น
ผมแนะนำให้ไปเข้าคอร์สฟรีของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชื่อ CS193P - Developing Apps for iOS ซึ่งเป็นคอร์สที่ดีมาก เขาจะสอนตั้งแต่พื้นฐานการเขียนโปรแกรมไปสู่การเขียนแอปฯ สำหรับ iOS มันเป็นคอร์สที่เปลี่ยนชีวิตผมเลย เพราะผมสามารถเขียนโปรแกรมได้เป็นเรื่องเป็นราวจากคอร์สนี้ อาจารย์ที่สอนก็เก่งมาก สอนสนุก
ผมเชื่อว่าคนที่เป็นดีไซเนอร์พอมาเจออะไรแบบนี้จะชอบ เวลาเด็กเห็นของเล่นเราก็จะชอบใช่ไหม มันเป็นของเล่นที่โต้ตอบกับเราได้ ยิ่งชอบไปกันใหญ่เลยทีนี้ นี่แหละคือความสนุกของการเขียนแอปฯ สำหรับ iOS ตอนแรกๆ จะปวดหัวหน่อย แต่พอเข้าใจแล้ว มองว่ามันเป็นเหมือนตัวการ์ตูนตัวหนึ่งก็จะสนุกขึ้น ซึ่งช่วงแรกๆ ผมก็มองแบบนั้น แต่พอทำโปรเจกต์ลูกค้าที่เป็นธนาคารไปเยอะๆ ก็เลยมองเป็นเครื่องมือสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินไปแล้ว แต่มันก็ยังเป็นเรื่องสนุกอยู่นะ
สรุปก็คือ เรื่องของการหาความรู้ใส่ตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ย้อนมองเส้นทางการทำงานที่ผ่านมา
พื้นฐานของผมคือการเป็นศิลปิน ต้องลงมือทำผลงานทุกอย่างขึ้นมาเอง ความสุขของผมคือการได้สร้างผลงานขึ้นมาเองกับมือ เป็นความสุขที่อธิบายยากนะ แต่คิดว่าคนที่เรียนศิลปะน่าจะเข้าใจ
ผมเคยได้สอนงาน junior developer มาบ้าง ได้อธิบายพวกเขาว่าสถาปัตยกรรมข้อมูลที่ดีควรเป็นอย่างไร แต่จะไม่ถึงขนาด micromanage ในเรื่องยิบย่อยมากนัก แค่บอกคร่าวๆ ว่าต้องทำอย่างไร แล้วให้เขาพยายามทำดู
ด้วยความที่ผมทำงานมาหลายบริษัท ผมจึงได้ฝึกฝนทักษะการบริหารจัดการโปรเจกต์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน project manager ที่เคยร่วมงานด้วยก็มีประสิทธิภาพแตกต่างกันไปคนละแบบ ผมมองว่าตัวเองเป็นคน introvert การไปบริหารจัดการคนมันเลยเป็นเรื่องยาก แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่อยากก้าวข้ามให้ได้ในสักวันหนึ่ง
ในความคิดของผม การบริหารจัดการโปรเจกต์ที่ดีคือการมีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับคนที่เป็น project manager ที่ดี ผมก็เลยอยากเป็นเหมือน assistant manager ที่ทำให้โปรเจกต์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ผมรู้สึกว่า developer หลายคนในทีมก็เป็นแบบนี้ คือเขาอาจจะไม่ได้เป็น project manager แต่มีทักษะในเรื่องนี้เทียบเท่ากันเลย ทำให้โปรเจกต์มันราบรื่นขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
อีกเรื่องคือ สมัยก่อนผมจะเน้นเขียนโค้ดให้ดูสวยไว้ก่อน แต่ความเป็นจริงโค้ดจะสวยหรือไม่สวย ไม่ได้ทำให้แอปพลิเคชันเร็วขึ้น สิ่งที่ทำให้เร็วขึ้นคือสถาปัตยกรรมของมัน ทำให้ผมมองภาพรวมมากขึ้น
บางครั้งถ้าลูกค้าเขามีฟีดแบ็กในแง่ลบเกี่ยวกับเรา ผมเชื่อว่าเราน่าจะมีอะไรบกพร่องแน่ๆ เพราะลูกค้ามักจะเคยร่วมงานกับ developer มามากมาย เราอาจจะเป็น 1 ใน 100 คนที่เขาเคยเจอมา อีกอย่างลูกค้าเป็นฝ่ายจ่ายเงิน ลูกค้าต้องเป็นฝ่ายถูก ไม่ว่าเขาจะต้องการอะไรก็ตาม
ยกตัวอย่างเคสหนึ่ง โฟลว์การทำงานของแอปฯ ที่เขาต้องการมันจะคล้าย Android มากไปหน่อย ซึ่งจริงๆ แล้วแม้เราจะบอกว่ามันผิดหลักการพัฒนาบน iOS แต่ในเมื่อเขายืนยันว่าต้องการแบบนี้ เพราะผู้ใช้ของเขาชอบแบบนี้ ซึ่งอาจจะมาจากความเคยชินที่หลายคนใช้ Android เป็นหลัก หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องพัฒนาตามที่เขาต้องการแม้ว่ามันจะยากกว่าและใช้เวลามากกว่าปกติก็ตาม
สิ่งที่อยากศึกษาเพิ่มเติม
ด้วยความที่ iOS เป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่มาก เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครสักคนจะรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน อย่างสมัยก่อนจะมีแค่ภาษา Objective-C แต่ตอนนี้มี Swift กับ SwiftUI ฝั่งกราฟิกก็จะมี Metal รวมไปถึงเรื่องของ AI อย่างงาน WWDC ในแต่ละปีผมยังดูไม่หมดเลย ต้องย้อนกลับไปดูงานปีเก่าๆ ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่ตัวเองดองไว้ เพราะเนื้อหาเยอะ อะไรที่ไม่รู้ก็จะได้ศึกษาเพิ่มเติม
ตอนนี้ผมสนใจ Core ML มากๆ เพราะอยากเข้าใจการทำงานของ machine learning นอกจากนั้นก็ Python ที่เพิ่งเรียนจบคอร์สไปเมื่อเดือนที่แล้ว คิดว่าอยากจะมีความรู้เทียบเท่า full-stack developer ดูเพราะคิดว่าน่าจะนำมาปรับใช้กับงานที่ทำอยู่ อยากจะทำให้ได้ครับ หลังจากนั้นก็อาจจะศึกษาเกี่ยวกับ C และ C# เพิ่มเติมอีกที เพื่อที่จะทำอะไรได้กว้างกว่าเดิม เพราะไลบรารีบางอย่างเกี่ยวกับ AI มักจะเขียนด้วยภาษา C
ก้าวต่อไป
ผมคาดว่าภายในหกเดือนนับจากนี้น่าจะพอลองสร้างโปรเจกต์แบบ full-stack ขึ้นมาได้ เป็นเว็บไซต์เล็กๆ มีการเชื่อมโยงกับพวกระบบชำระเงิน แต่ระบบอาจจะรับโหลดได้ไม่เยอะมากนัก
บางทีผมก็คิดว่าอยากจะลองเป็น project manager ดูนะ แต่อย่างที่ผมเคยบอกไปว่าผมมีพื้นฐานมาจากการทำงานศิลปะ เลยยังมีความสุขในการลงมือทำด้วยตัวเองอยู่ คงจะทำแบบนี้ต่อไปอีกสักระยะ เพราะมันสนุกจนหยุดไม่ได้ ทั้งยังได้ก้าวข้ามอุปสรรคที่ท้าทายมากมาย
สุดท้ายนี้ก็ฝากไว้ว่า ลองศึกษาเรื่อง iOS ดูครับเผื่อจะสนใจ ใครที่อยากเจอความท้าทายแบบเดียวกันกับผมก็มาร่วมงานกันได้ ขอให้สนุกกับการเขียนโค้ดครับ
![]()
|
ปองภพ งามกนกวรรณ, Senior iOS Developer ที่ Seven Peaks คุณปองภพมีประสบการณ์ทำงาน 7 ปีในแวดวง design, digital arts, 3D visual effect cinematography และ 6 ปีในการเป็น full-time native iOS developer โดยผ่านการร่วมทีมในโปรเจกต์ธนาคารหลายแห่งในประเทศไทย |
แชร์เรื่องนี้
- การพัฒนาซอฟต์แวร์ (9)
- อาชีพการงาน (7)
- Fintech (6)
- Cloud (5)
- การพัฒนาแอปพลิเคชัน iOS (5)
- Agile (4)
- Expert Spotlight (4)
- JavaScript (4)
- QA (4)
- Trend (4)
- Android Developer (3)
- InsurTech (3)
- Iot (3)
- Mixpanel (3)
- Product-Centric Mindset (3)
- Seven Peaks Insights (3)
- การพัฒนาแอปฯ Android (3)
- การออกแบบ UX (3)
- บริษัท (3)
- เทคโนโลยีการเงินและการธนาคาร (3)
- .NET (2)
- CSR (2)
- Data (2)
- Hybrid App (2)
- Kotlin (2)
- ReactJS (2)
- digital transformation (2)
- การธนาคาร (2)
- การพัฒนาแอปฯ (2)
- 5g (1)
- AI (1)
- Android (1)
- AndroidX Biometric (1)
- Biometrics (1)
- Data and Analytics (1)
- DevOps (1)
- Digital Healthcare (1)
- Digital Landscape (1)
- Digital Product (1)
- Financial Inclusion (1)
- GraphQL (1)
- IT outsourcing (1)
- MVVM (1)
- Metaverse (1)
- Morphosis (1)
- Native App (1)
- Node.js (1)
- Recruitment (1)
- SCB (1)
- Software Engineer (1)
- Software Tester (1)
- Stripe (1)
- Swift (1)
- SwiftUI (1)
- Tech Meetup (1)
- Turnkey (1)
- UI (1)
- UX (1)
- azure (1)
- cross-platform application (1)
- digital id (1)
- e-payment (1)
- e-wallet (1)
- iOS17 (1)
- partner (1)
- waterfall (1)
- การจ้างงาน (1)
- การพัฒนาด้วย RabbitMQ (1)
- การพัฒนาระบบคลาวด์ (1)
- การออกแบบ Decorator Pattern (1)
- การใช้งาน C# (1)
- งาน Product Manager (1)
- งาน Product Owner (1)
- ทำ Context API (1)
- ฟินเทค (1)
- ระบบการชำระเงิน (1)
- สร้าง brand loyalty (1)
- อีคอมเมิร์ซ (1)
- เขียนโค้ด React (1)
- เครื่องมือ web debugging (1)
- เทคโนโลยี React (1)
- เพิ่ม conversion (1)
- เฟรมเวิร์ก (1)
- แดชบอร์ด (1)
- ธันวาคม 2023 (1)
- พฤศจิกายน 2023 (10)
- ตุลาคม 2023 (13)
- กันยายน 2023 (7)
- กรกฎาคม 2023 (4)
- มิถุนายน 2023 (3)
- พฤษภาคม 2023 (3)
- เมษายน 2023 (1)
- มีนาคม 2023 (1)
- พฤศจิกายน 2022 (1)
- สิงหาคม 2022 (4)
- กรกฎาคม 2022 (1)
- มิถุนายน 2022 (4)
- เมษายน 2022 (6)
- มีนาคม 2022 (3)
- กุมภาพันธ์ 2022 (6)
- มกราคม 2022 (3)
- ธันวาคม 2021 (2)
- ตุลาคม 2021 (1)
- กันยายน 2021 (1)
- สิงหาคม 2021 (3)
- กรกฎาคม 2021 (1)
- มิถุนายน 2021 (2)
- พฤษภาคม 2021 (1)
- มีนาคม 2021 (4)
- กุมภาพันธ์ 2021 (4)
- ธันวาคม 2020 (4)
- พฤศจิกายน 2020 (1)
- มิถุนายน 2020 (1)
- เมษายน 2020 (1)