บทความและข่าวสาร | Seven Peaks Insights

Internet of Things (IoT) มีหน้าที่อะไรบ้างใน smart city

เขียนโดย Seven Peaks - 2 ส.ค. 2021, 9:39:00

IoT มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ให้กับ smart city ทั้งยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานและคุณภาพในการให้บริการของหน่วยงานรัฐ รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชากรอีกด้วย เราจึงจะมาตอบคำถามผ่านบทความนี้ ว่าหน้าที่ของ IoT ใน smart city มีอะไรบ้าง และเซนเซอร์ของ IoT นำไปใช้งานด้านใดมากที่สุด มาหาคำตอบกัน

เซนเซอร์ของ IoT คืออะไร

Internet of Things หรือ IoT คือการทำงานของเครือข่ายอุปกรณ์นับพันล้านเครื่อง ทั่วโลกที่เชื่อมต่อกันโดยการเก็บและแชร์ข้อมูลระหว่างกันผ่านอินเทอร์เน็ต เซนเซอร์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราเช่นกัน คุณอาจไม่ทันสังเกตว่ามันอยู่ในทุกที่ที่เราไป ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน ในอาคารต่างๆ และใน smart city เซนเซอร์ สามารถนำมาใช้งานกับแหล่งพลังงานได้หลากหลาย เช่น ความร้อน แรงกดอากาศ น้ำ และการเคลื่อนไหวของวัตถุ สามารถแชร์ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันและระบบบริหารจัดการข้อมูลได้ และเซนเซอร์เป็นสิ่งที่เรานำมาใช้กันทั่วไปใน IoT

smart city ที่ใช้ IoT เป็นเมืองแบบไหน

เป้าหมายหลักของ smart city คือการพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ลดของเสียและความไม่สะดวกสบาย เพิ่มคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเพิ่มความเท่าเทียมให้คนในชุมชน

smart city ใช้ IoT เพื่อมอบโซลูชันที่มีความเชื่อมโยงกันให้กับสาธารณชน จึงทำให้ IoT เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในประเด็นนี้

IoT คือเครือข่ายของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันเพื่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น เซนเซอร์ แสง และมิเตอร์ต่างๆ แล้วนำข้อมูลนั้นไปเก็บและวิเคราะห์

ซึ่งเมืองเหล่านี้ได้ใช้ข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค บริการ และอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากนั้น ยังมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อปกป้อง ติดตามผล และควบคุมการรับส่งข้อมูลในเครือข่าย IoT บนแพลตฟอร์มที่ smart city ใช้เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่า smart city จะมีฟังก์ชันที่ฉลาดสมชื่อและทำงานได้เต็มศักยภาพ

บทบาทของ IoT ใน smart city มีอะไรบ้าง

smart city มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงพร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเมืองและเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรด้วยเทคโนโลยีที่ฉลาดล้ำยุคและการวิเคราะห์ข้อมูลไปในเวลาเดียวกัน แต่คุณอยากรู้ไหมว่าเราใช้ IoT อย่างไรกันแน่ ซึ่งเราจะตอบคำถามในประเด็นหลักว่าบทบาทของ IoT ใน smart city มีอะไรบ้าง ในหัวข้อต่อไปนี้

เราใช้ IoT กับ smart city อย่างไร

เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ IoT จึงกลายเป็นหนึ่งในโครงสร้างย่อยที่สำคัญที่สุดใน smart city

การนำ IoT มาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ IoT applications ทำให้ smart city สามารถใช้ทรัพยากรสาธารณะได้อย่างเต็มที่ด้วยการพัฒนาคุณภาพบริการพร้อมกับลดต้นทุนไปในตัว

จุดมุ่งหมายหลักของการใช้ IoT ใน smart city คือการทำให้ผู้คนเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ง่ายและไม่เหมือนใคร ด้วยปรับเปลี่ยนระบบคมนาคมขนส่ง ประปา ไฟฟ้า และการบำรุงรักษาพื้นที่สาธารณะให้ดียิ่งขึ้น และใช้งานอย่างเหมาะสมยิ่งกว่าเดิม

คอนเซปต์ของ smart city คือการเพิ่มความโปร่งใสและปรับปรุงการปฏิบัติงาน มีตัวอย่างการนำ IoT ไปใช้งานใน smart city ดังต่อไปนี้

เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ด้วยการเก็บข้อมูลจากหลายแหล่งตามประเภทของเซนเซอร์ ยกตัวอย่างเช่น

– เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ เก็บข้อมูลจากความร้อนหรือความเย็น
– เซนเซอร์วัดความชื้น เก็บข้อมูลจากปริมาณไอน้ำในอากาศ
– เซนเซอร์วัดก๊าซ เก็บข้อมูลจากปริมาณก๊าซในอากาศ
– เซนเซอร์วัดแรงดันน้ำ ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำจากเครือข่ายโดยใช้ SCADA สร้างระบบแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์

สร้างระบบแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ซึ่งสามารถทำได้โดยการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ที่จำเป็นเพื่อแจ้งว่าเกิดการเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ อุปกรณ์บางอย่างสามารถส่งสัญญาณได้อัตโนมัติ เช่น มีเซนเซอร์ความชื้นที่จะทำการรดน้ำอัตโนมัติในเวลาที่เหมาะสมด้วยการตรวจสอบและทำงานจากข้อมูลความชื้นในดินที่ได้รับมา ซึ่งสามารถนำไปใช้งานจริงใน smart city ได้ในกรณีต่อไปนี้

– มิเตอร์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นมิเตอร์ที่สามารถอ่านและรับ-ส่งข้อมูลให้ผู้บริโภครวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อัตโนมัติสำหรับการติดตามผลในระยะไกลและการคิดค่าบริการแบบเรียลไทม์
– ระบบบริหารจัดการจราจรที่ชาญฉลาด เป็นระบบบริหารจัดการงานจราจรที่สามารถปรับการทำงานได้ตามสภาพการจราจร โดยใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์จากเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวบนท้องถนนและกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันการจราจรติดขัด

ซอฟต์แวร์ของระบบที่ทำงานผ่านกระบวนการบริหารจัดการข้อมูล จะใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาจากเซนเซอร์ แล้วนำข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้ไปให้อุปกรณ์ประมวลผล

– ระบบตรวจสุขภาพอัจฉริยะ ใช้เซนเซอร์ในเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อคัดกรองผู้ป่วย ช่วยพัฒนาให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นมีประสิทธิภาพดีขึ้น
– ระบบจัดเก็บขยะ สามารถติดตามผลการทำงานของถังขยะ เพื่อดูว่ามีปริมาณขยะมากแค่ไหน ทำให้สามารถปรับตารางการจัดเก็บและเส้นทางในการจัดเก็บได้อย่างเหมาะสม
– ระบบแสงไฟอัจฉริยะ ควบคุมการทำงานของแสงไฟได้อัตโนมัติ สามารถหรี่ไฟถนนได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการใช้งานผ่านเซนเซอร์วัดปริมาณแสงและตรวจจับการเคลื่อนไหว

เซนเซอร์ที่มีการนำมาใช้งานมากที่สุดใน IoT

เซนเซอร์วัดอุณหภูมิ

มีการนำเซนเซอร์วัดอุณหภูมิไปใช้ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้

เกษตรกรรม: เซนเซอร์วัดอุณหภูมิสามารถช่วยเกษตรกรในการตรวจสอบอุณหภูมิในดินและอากาศได้ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการเกษตรได้เป็นอย่างดี เกษตรกรสามารถบริหารเวลาในการรดน้ำ ปริมาณน้ำที่ต้องใช้ และนำข้อมูลที่มีมาประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้

ห้องเย็น: จำเป็นต้องใช้เซนเซอร์วัดอุณหภูมิเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิให้คงที่อยู่เสมอ เราสามารถตั้งอุณหภูมิสูงสุดหรือต่ำสุดได้ตามต้องการ และจะแจ้งเตือนเมื่อมีความผิดปกติ นิยมใช้ในธนาคารเลือด ห้องแล็บที่ใช้ในทางการแพทย์ และห้องเก็บวัคซีน

อุตสาหกรรมอาหาร: เซนเซอร์ที่ใช้ในระบบ IoT จะช่วยให้อาหารไม่เน่าเสียระหว่างการขนส่งด้วยรถบรรทุกตู้ห้องเย็น สามารถบอกอุณหภูมิได้แบบเรียลไทม์และเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ภายหลังได้ ช่วยให้บริการมีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

เซนเซอร์วัดความชื้น

เซนเซอร์วัดความชื้นถูกนำไปใช้ในการวัดปริมาณไอน้ำในอากาศหรือก๊าซชนิดต่างๆ ซึ่งจะแสดงหน่วยเป็น % RH

เซนเซอร์วัดความชื้นสามารถวัดความชื้นสัมพัทธ์ได้ระหว่าง 10-90% RH โดยปกติแล้วจะใช้งานควบคู่กับเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ แต่เนื่องจากขนาดที่เล็กและราคาถูก จึงมักนำไปใช้ทั้งในบ้านและงานอุตสาหกรรม

เซนเซอร์วัดความชื้นเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการควบคุมกระบวนการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้

อุตสาหกรรมกระดาษ: เซนเซอร์วัดความชื้นจะถูกนำไปใช้ในการควบคุมความชื้นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอบเยื่อไม้ให้แห้ง ควบคุมความชื้นของแผ่นกระดาษ และช่วยในกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาในการผลิตอีกด้วย

อุตสาหกรรมอาหาร: ความชื้นและอุณหภูมิเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตอาหารเพราะอาจส่งผลต่อรสชาติได้ อุตสาหกรรมอาหารจึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่สามารถควบคุมมาตรฐานได้ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ DishTemp สำหรับเครื่องล้างจาน, เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิอาหาร, และเทอร์โมมิเตอร์วัดน้ำมันทอด อุปกรณ์ทั้งหมดนี้ต่างก็ใช้เซนเซอร์วัดความชื้นเพื่อควบคุมการทำงาน

ห้องคลีนรูม/ห้องเก็บวัคซีน: ห้องคลีนรูมหรือห้องเก็บวัคซีนคือห้องที่ต้องมีการควบคุมเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องควบคุมค่าต่างๆ อย่างเข้มงวด เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม และความกดอากาศ เป็นต้น เพราะค่าเหล่านี้จะไปส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ แบคทีเรีย สิ่งสกปรก และสิ่งปนเปื้อนได้ ดังนั้น เซนเซอร์วัดความชื้นคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสถานที่อย่างโรงพยาบาล ห้องแล็บ และศูนย์วิจัย เป็นต้น

เกษตรกรรม: เซนเซอร์วัดความชื้นถูกนำไปใช้เพื่อวัดความชื้นในดินหรือใช้เป็นเซนเซอร์สำหรับรดน้ำโดยสามารถต่อพ่วงกับ microcontroller ด้วยการอ่านค่าความชื้นแบบแอนะล็อกหรือใช้สัญญาณดิจิทัลที่ส่งมาจากโมดูลก็ได้ เซนเซอร์เหล่านี้สามารถนำไปสร้างระบบรดน้ำอัตโนมัติได้ ทำให้คุณไม่ต้องเสียเวลารดน้ำต้นไม้ด้วยตัวเอง

เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซ

เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซถูกนำไปใช้ในการตรวจสอบคุณภาพอากาศรวมถึงก๊าซพิษที่เจือปนในอากาศ เราอาจจะคุ้นเคยกับเซนเซอร์ชนิดนี้มากที่สุดเนื่องจากนิยมนำมันไปใช้ในบ้าน นอกจากนี้ยังนิยมไปใช้ในการขุดแร่ น้ำมัน รวมถึงแล็บที่ใช้ในการวิจัยสารเคมีและโรงงานอุตสาหกรรมเช่นกัน

ก๊าซพิษคือก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาการระคายเคือง แสบคัน หรืออาจอันตรายถึงชีวิต ในบางกรณีอาจทำให้เกิดไฟลุกไหม้หรือระเบิดได้ ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซกับ IoT – ตรวจจับก๊าซอันตรายในอากาศ
โรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตน้ำมัน ก๊าซ ปิโตรเคมี สารเคมี กระดาษ บำบัดน้ำเสีย หลอมเหล็ก ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ หรือผลิตสินค้าทั่วไป ต่างก็ใช้เซนเซอร์ชนิดนี้

เนื่องจากโรงงานเหล่านี้มีโอกาสที่จะต้องเจอกับไอระเหยและก๊าซพิษต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เซนเซอร์ชนิดนี้ในอุปกรณ์ IoT เพื่อตรวจจับก๊าซอันตรายและทำให้พื้นที่ในการทำงานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

“IoT คือสิ่งสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง”
-Joerg Grafe

เซนเซอร์อินฟราเรด

เซนเซอร์อินฟราเรดหรือเซนเซอร์แสง คืออุปกรณ์ที่เปลี่ยนค่าแรงต้านทานหรือการนำไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวมันได้ โดยมันสามารถตรวจจับสิ่งกีดขวางด้วยการสะท้อนแสงกับวัตถุรวมถึงตรวจจับวัตถุที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างหน้าเซนเซอร์ได้ด้วย

เซนเซอร์อินฟราเรดมีตัวรับและส่งสัญญาณอินฟราเรด ตัวส่งสัญญาณอินฟราเรดที่เป็นสีขาวจะทำหน้าที่ส่งออกไป เมื่อมีวัตถุมาขวาง สัญญาณอินฟราเรดจะถูกสะท้อนกลับไปยังตัวรับสัญญาณที่เป็นสีดำ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการตรวจจับวัจถุที่อยู่ข้างหน้าและปรับความไวหรือระยะในการตรวจจับได้ตามต้องการ โดยมีการใช้ในด้านต่อไปนี้

สุขภาพ
มีการนำเซนเซอร์อินฟราเรดมาใช้ทางการแพทย์ในการตรวจสอบอุณหภูมิของร่างกาย โดยกล้องถ่ายภาพอินฟราเรดสามารถเก็บข้อมูลอุณหภูมิโดยรวมของผิวหนังได้ อุณหภูมิของผิวหนังคนเราสามารถบอกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาทางร่างกายในด้านการเผาผลาญและการควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคและการบันทึกข้อมูลการรักษาได้

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
เราสามารถนำเซนเซอร์อินฟราเรดมาใช้กับเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนในการควบคุมการเคลื่อนไหวหรือสถานะการใช้งานเพื่อประหยัดพลังงานและรักษาอุณหภูมิให้คงที่ได้ เซนเซอร์สามารถสแกนห้องเพื่อเตรียมความพร้อมและควบคุมอุณหภูมิได้ ทั้งยังนำเสนอข้อมูลของสภาพแวดล้อมได้แบบเรียลไทม์และคำนวณความร้อนจากหน้าต่างเพื่อปรับความเย็นหรือความร้อนได้อีกด้วย

ไจโรสโคป

ไจโรสโคป หรือ เซนเซอร์วัดความเร็วเชิงมุม สามารถวัดความเร็วเชิงมุมได้ 3 ทิศทาง โดยระบุหน่วยเป็นองศาต่อวินาที

ปกติแล้วเซนเซอร์ชนิดนี้จะใช้กับอุปกรณ์นำทาง แต่เราสามารถนำมาใช้กับสมาร์ตโฟนเพื่อดูวิดีโอหรือภาพถ่ายแบบ 360 องศาได้ และสามารถหมุนหน้าจอเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนได้เช่นกัน

ไจโรสโคปในสมาร์ตโฟน
เราใช้ไจโรสโคปกับสมาร์ตโฟน โดยมันช่วยให้เราสามารถหมุนหน้าจอมือถือแล้วภาพบนหน้าจอหมุนตามแนวตั้งหรือแนวนอนได้อัตโนมัติอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดประสบการณ์การใช้งานที่ดีและยังบอกข้อมูลของสภาพแวดล้อมได้อีกด้วย เกมที่ใช้ภาพ 3 มิติอย่าง Pokemon Go ก็ใช้ไจโรสโคปเพื่อแสดงผล augmented reality หรือ AR ซึ่งจะไม่สามารถใช้งานได้เลยหากไม่มีเซนเซอร์ชนิดนี้

โปรแกรมที่ใช้งานไจโรสโคป
มีการนำไจโรสโคปไปใช้กับระบบควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยานพาหนะ ระบบกันสั่นของกล้องถ่ายรูปดิจิทัล และระบบการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ เป็นต้น ซึ่งไจโรสโคปที่อยู่ในระบบกันสั่นของกล้องถ่ายรูปช่วยลดแรงสั่นสะเทือนที่อาจทำให้รูปถ่ายเบลอได้

ใช้ไจโรสโคปในทางการแพทย์
ไจโรสโคปยังสามารถนำไปใช้เก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของคนไข้ด้วยการติดเอาไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งจะทำหน้าที่แสดงทิศทางการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับระยะเวลา โดยจะแสดงเป็นกราฟ 3 ทิศทาง และนำไปประมวลผลในโปรแกรม ผลลัพธ์ที่ได้จะแสดงออกมาเป็นภาพสามมิติคล้ายๆ กับการจับการเคลื่อนไหวในภาพยนตร์นั่นเอง จากนั้นลักษณะการเคลื่อนไหวของคนไข้ก็จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของคนปกติ ทำให้สามารถวินิจฉัยได้ง่ายขึ้นว่าคนไข้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติหรือไม่ และผิดปกติที่จุดไหนบ้าง

ตัวอย่างการใช้ IoT ใน smart city

ในบรรดา smart city ทั้งหลาย ตอนนี้ทวีปยุโรปถือว่าเป็นผู้นำในด้านนี้ ในขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือยังตามหลังอยู่ แม้ว่าจะเป็นทวีปที่มีการขยายตัวของเมืองสูงที่สุดในโลกก็ตาม

อังกฤษ

smart city ในอังกฤษที่คุณควรให้ความสนใจคือเมืองใหญ่อย่าง Milton Keynes ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอังกฤษ ซึ่ง Milton Keynes ได้รับรางวัล “Smart Cities UK” ถึง 3 สาขาด้วยกัน คือ สาขาข้อมูล การสื่อสาร และพลังงาน

หัวใจสำคัญของโปรเจกต์ smart city ที่เมืองแห่งนี้เกิดจากการสร้าง data hub สมัยใหม่ขึ้นมา ซึ่งรวมเอาข้อมูลทั้งด้านพลังงาน การใช้น้ำประปา การขนส่งมวลชน สังคม เศรษฐกิจ และดาวเทียม ที่มีชุดข้อมูลมากกว่า 700 ชุดเข้าไว้ด้วยกันเพื่อใช้ในการพัฒนาทรัพยากรที่ใช้ในเมือง และทำให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

data hub จะนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น การขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ใช้เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีข้อมูลของแอปพลิเคชัน MotionMap ที่บอกข้อมูลการเคลื่อนไหวของประชาชนและยานพาหนะที่อยู่รอบเมือง รวมถึงตารางเดินรถ ลานจอดรถ และประเมินเส้นทางสำหรับเลี่ยงการจราจรติดขัดเพื่อช่วยให้ประชาชนในเมืองสามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางขับรถได้ดียิ่งขึ้น

สิงคโปร์

แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีอายุมากกว่า 50 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ต้องการแค่พัฒนา smart city เท่านั้น พวกเขากลับต้องการสร้าง “Smart Nation” ขึ้นมาแทน ในฐานะที่เป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะใช้ IT ในการเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น ทั้งยังมีเป้าหมายสำหรับประเทศในการเป็นสังคมไร้เงินสดด้วยการใช้ระบบ e-Payment ที่ครอบคลุมธุรกรรมทุกอย่างของธุรกิจ

สิงคโปร์เน้นการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล Open Government Data ที่ใช้กับทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน หรือการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ อย่างไรก็ตาม การที่สิงคโปร์ทำให้เมืองมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นด้วย IT นั้นจำเป็นต้องมีความระมัดระวังด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วยการปกป้องข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะเช่นกัน

นอกจากนี้ โครงการ Smart Nation ยังเน้นการพัฒนาระบบสาธารณสุขอีกด้วย โดยการดูแลด้านสุขภาพของประชาชนและการคมนาคม เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์มองว่า อีก 15 ปี ประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั่นเอง

ซึ่งทำให้ประเทศต้องมีบริการทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในการคมนาคมพร้อมด้วยเทคโนโลยีดีๆ มารองรับ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ในด้านคมนาคม สิงคโปร์ได้พัฒนารถยนต์ไร้คนขับและระบบ TeleHealth ขึ้นมา ซึ่งยังนำไปใช้ในการช่วยให้คนไข้เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ง่ายขึ้นแม้จะอยู่ที่บ้านก็ตาม

รัฐบาลสิงคโปร์ได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมามากมายที่ต้องการให้นำมาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้วยแอปฯ HealthHub ที่ใช้บันทึกข้อมูลสุขภาพ แอปฯ MyResponder ที่คนไข้โรคหัวใจจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นและเรียกรถพยาบาลให้ แอปฯ MyTransport.SG app ที่บอกเวลาเดินรถสาธารณะและรายงานอุบัติเหตุบนท้องถนน และแอปฯ อื่นๆ อีกมากมายที่รัฐบาลทำออกมาให้ประชาชนได้ใช้งานกัน

เนเธอร์แลนด์

ประเทศที่น่าอยู่อย่างเนเธอร์แลนด์เองก็ไม่พลาดที่จะสร้างโปรเจกต์พัฒนาเมืองให้ทันสมัยเช่นกัน ตัวอย่างสำคัญคือ กรุงอัมสเตอร์ดัม ที่กลายเป็น smart city ที่สร้างนวัตกรรมมาตั้งแต่ปี 2009 และมีมากกว่า 170 โปรเจกต์ที่พัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาการจราจร การประหยัดพลังงาน และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน

อัมสเตอร์ดัมตั้งเป้าในการเป็นเมืองที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งด้วยโปรเจกต์ Circular Amsterdam ที่ต้องการให้เศรษฐกิจในเมืองมีการหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งยังมีการลดการทิ้งขยะและลดการสร้างมลพิษด้วยการรีไซเคิล เช่น การนำน้ำฝนมาทำเป็นเบียร์ หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลในรูปแบบใหม่ๆ และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เป็นต้น

โปรเจกต์หนึ่งที่มีความโดดเด่นมากก็คือ ‘City-zen’ ซึ่งต้องการทำให้เมืองหันมาใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล และความร้อนใต้พิภพ ทั้งยังต้องการนำพลังงานเหล่านี้มาใช้งานร่วมกันในระบบและอาคารต่างๆ ของเมือง รวมถึงประชาชน เช่น โรงเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถนำพลังงานส่วนที่เหลือใช้ไปขายต่อได้

มีอีกหลายโปรเจกต์ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี การศึกษา การสื่อสารไร้สาย คมนาคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ การเป็น smart city ทำให้เราสามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลของโปรเจกต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบ เป้าหมาย การติดตามผล และการเข้าร่วม ได้ผ่านทางเว็บไซต์ของเมืองอีกด้วย

เทรนด์การใช้ IoT กับ Smart City ในอนาคต

การตรวจจับไฟไหม้

เซนเซอร์สามารถติดตามสถานะของพื้นที่นันทนาการและพื้นที่ป่าต่างๆ ที่อาจเกิดไฟไหม้ได้ ทั้งยังสามารถตรวจจับไฟไหม้ภายในอาคารได้ และจากนั้นเซนเซอร์จะทำการส่งสัญญาณเตือนไปยังหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่

การควบคุมทางไกลและความสามารถในการตรวจสอบของระบบ IoT จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงรู้ได้ว่าควรส่งทีมงานและรถดับเพลิงไปที่ไหนเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

เมื่อสัญญาณเตือนควันไฟทำงาน เครื่องตรวจจับความร้อนจะส่งสัญญาณ จากนั้นจะเปิดสวิตช์หัวฉีดน้ำดับเพลิง และส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงรู้

ระบบตรวจสอบสะพาน

เซนเซอร์จะคอยตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานและแจ้งเตือนให้ทีมวิศวกรของเมืองทราบปัญหา

มีการใช้โดรนเพื่อตรวจสอบในจุดที่เข้าถึงยากของสะพาน และวิศวกรจะทราบตำแหน่งที่มีปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยการดูข้อมูลผ่านแอปฯ

อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำงานสอดคล้องกับข้อกำหนดในการตรวจสอบโดยไม่สร้างความเสียหายให้กับสะพานด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ไปที่โครงสร้างสะพาน เพื่อรายงานข้อมูลความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

เซนเซอร์เหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทดแทนการตรวจสอบแบบดั้งเดิม แต่มีเพื่อใช้ในการเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ และทำให้หน่วยงานในพื้นที่และเจ้าของสินทรัพย์สามารถวางแผนเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบำรุงรักษาได้อย่างทันท่วงที

เซนเซอร์สำหรับบริหารจัดการขยะ

เทรนด์นี้คือแนวทางที่ดีที่สุดในการทำความสะอาดเมืองด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคของ IoT เซนเซอร์อุปกรณ์ IoT จะตรวจจับปริมาณขยะในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้ามาจัดการขยะในเส้นทางที่เหมาะสมได้

โดยอุปกรณ์ IoT จะมีเซนเซอร์ตรวจสอบปริมาณขยะในถัง และปรับปรุงการบริหารจัดการขยะให้ดีขึ้น ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ เซนเซอร์ของ IoT คือตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับเมืองทั้งหลายที่ต้องการพัฒนาได้ดีในระยะยาว และเติบโตร่วมกัน

สรุปทิ้งท้าย

เซนเซอร์กับ IoT กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเราและเป็นหลักสำคัญในการดำเนินงานของเมืองที่เราอาศัยอยู่ด้วย ดังนั้น หากจะสรุปประเด็นของเราว่า IoT มีหน้าที่อะไรบ้างใน smart city ก็คือ IoT จะคอยเก็บรวบรวม แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูล จากนั้นจึงสร้างโซลูชันให้สาธารณชน การที่ smart city ทั้งหลายมีอุปกรณ์เหล่านี้ไว้ใช้ทำให้เมืองเหล่านั้นสามารถพัฒนาคุณภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถรวบรวมข้อมูลและบริหารจัดการงานบางอย่างได้ดียิ่งขึ้น

ศักยภาพของ smart city นั้นไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีแต่จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกๆ ปี แต่ไม่ได้มีแค่เรื่องเหล่านี้เท่านั้นที่ IoT จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เพราะยังมีความเป็นไปได้อีกมาก

มีธุรกิจมากมายที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการทำงานของเซนเซอร์ใน IoT หากคุณเข้าใจว่า IoT สามารถทำอะไรได้บ้างจากบทความนี้ของเรา คุณก็จะกลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ของลูกค้าได้ไม่ยาก